การสำรวจความชุกของหนอนพยาธิที่ติดต่อผ่านทางดินในพื้นที่สวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร

วิไลนุช โชคถาวรเจริญ, วรากร โกศัยเสวี, สิริลักษณ์ ดุสิตสิทธิพร, สุคนธา ศิริ

Abstract


หนอนพยาธิที่ติดต่อผ่านทางดิน (Soil-transmitted helminths) เป็นกลุ่มหนอนพยาธิตัวกลมที่มีระยะติดต่อฟักตัวอยู่ในดิน ประเทศไทยมีการรายงานผู้ติดเชื้อหนอนพยาธิกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่องและยังคงเป็นปัญหาทางสาธารณสุข นอกจากนี้ยังมีการตรวจพบหนอนพยาธิกลุ่มนี้ในดินที่สนามเด็กเล่น ในโรงเรียน และดินรอบบ้านของผู้ติดเชื้อ และในต่างประเทศพบพยาธิกลุ่มนี้ในสวนสาธารณะ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความชุกของหนอนพยาธิที่ติดต่อผ่านทางดินและปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการพบหนอนพยาธิในดินในพื้นที่สวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินและมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก เก็บตัวอย่างดินจำนวน 87 ตัวอย่าง โดยการเลือกแบบเจาะจง จากสวนสาธารณะที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุด 3 ลำดับแรก คือ สวนหลวง ร.9 สวนวชิรเบญจทัศ และสวนลุมพินี จากนั้นตรวจตัวอย่างดินด้วยวิธี modified Zdybel method พบปรสิตในดิน 90% (79/87) แบ่งออกเป็น หนอนพยาธิและโปรโตซัว ความชุกของตัวอ่อนหนอนพยาธิ 89% (78/87) ความชุกของไข่หนอนพยาธิ 22% (19/87) และความชุกของซิสต์ Balantidium spp. 2% (2/87) ทั้งนี้ ไข่หนอนพยาธิที่พบมากที่สุดคือ Ascarid type egg 9% (8/87) รองลงมาเป็น Capillaria type egg และ Toxocara spp. egg ซึ่งพบความชุกเท่ากันคือ 6% (5/87) น้อยที่สุดคือ Hookworm-liked egg 1% (1/87) นอกจากนี้พบว่า ลักษณะเนื้อดิน อุณหภูมิ ความชื้น และค่า pH ไม่มีความสัมพันธ์กับการตรวจพบหนอนพยาธิ ถึงแม้ว่าหนอนพยาธิที่ติดต่อผ่านทางดินที่ตรวจพบครั้งนี้จะไม่สามารถจำแนกชนิดได้ แต่เป็นรายงานการพบหนอนพยาธิในสวนสาธารณะที่อาจติดต่อสู่คนได้ครั้งแรกใน กทม. ดังนั้นควรมีการสื่อสารความเสี่ยงที่อาจจะได้รับหนอนพยาธิให้แก่ผู้ใช้สวนสาธารณะ นอกจากนี้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One health) มีความจำเป็นสำหรับการเฝ้าระวังโรคปรสิตที่อาจจะติดต่อจากสัตว์สู่คนในพื้นที่สวนสาธารณะ

Full Text:

Untitled

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


**ไม่สามารถแก้ไขบทความ Proceeding online ทุกกรณี**