อิทธิพลของการเตรียมพื้นผิวและวัสดุที่ใช้ในการซ่อมแซมต่อความแข็งแรงยึดเฉือนของวัสดุเรซิน ชนิดชั่วคราวที่ขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์แบบ 3 มิติ

นัธทวัฒน์ ท้าวคำพุ, เจษฎา ผลาสุข

Abstract


งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความแข็งแรงยึดเฉือนของวัสดุเรซินชนิดชั่วคราวที่ขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์แบบ 3 มิติ ที่เตรียมพื้นผิวชนิดต่างๆและซ่อมแซมด้วยวัสดุที่แตกต่างกัน โดยชิ้นงานรูปทรงกระบอก ขนาด 20×15 มิลลิเมตร (เส้นผ่านศูนย์กลาง × สูง) ทั้งหมด 36 ชิ้น นำไปจำลองการใช้งานในช่องปากด้วยเครื่องเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบร้อน-เย็นเป็นจังหวะ (thermocycler) จำนวน 1,500 รอบ จากนั้นชิ้นงานจะถูกแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม (n=6) ตามการเตรียมพื้นผิวที่แตกต่างกัน คือ ไม่มีการเตรียมพื้นผิว (กลุ่มควบคุม), พ่นทรายด้วยอนุภาคอะลูมิเนียมออกไซด์และการใช้สารยึดติดแบบยูนิเวอร์ซอล ก่อนนำไปซ่อมแซมด้วยวัสดุที่แตกต่างกันคือ พอลิเมทิลเมทาคริเลต (Polymethyl methacrylate/PMMA) หรือเรซิน คอมโพสิตชนิดบิสเอคริล (Bis-acryl resin composite) หลังการเตรียมพื้นผิวและซ่อมแซมเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ชิ้นงานจะถูกนำไปทดสอบความแข็งแรงยึดเฉือนด้วยเครื่องทดสอบแรงแบบสากล ที่ความเร็วของหัวกดเท่ากับ 0.5 มิลลิเมตร/นาที จากนั้นนำชิ้นงานไปวิเคราะห์ความล้มเหลวด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบสเตอริโอกำลังขยาย 10 เท่า ผลการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (one-way ANOVA, α = 0.05) พบว่า การเตรียมพื้นผิวด้วยการพ่นทรายด้วยอนุภาคอะลูมิเนียมออกไซด์และซ่อมแซมด้วยวัสดุพอลิเมทิลเมทาคริเลตหรือวัสดุเรซินคอมโพสิตชนิดบิสเอคริลให้ค่าความแข็งแรงยึดเฉือนสูงที่สุด และมีค่ามากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การล้มเหลวส่วนใหญ่เกิดที่ชั้นของสารยึดติด ดังนั้นการเตรียมพื้นผิวด้วยการพ่นทรายด้วยอนุภาคอะลูมิเนียมออกไซด์เป็นวิธีการที่แนะนำก่อนการซ่อมแซมวัสดุเรซินชนิดชั่วคราวที่ขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์แบบ 3 มิติด้วยพอลิเมทิลเมทาคริเลตหรือวัสดุเรซินคอมโพสิตชนิดบิสเอคริล

Full Text:

Untitled

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


**ไม่สามารถแก้ไขบทความ Proceeding online ทุกกรณี**