พิธีไหว้ครูโขน ละคร

อรรถพล ฉิมพูลสุข

Abstract


พิธีไหว้ครูโขน ละคร เป็นพิธีกรรมที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน มีรูปแบบ ระเบียบแบบแผน วิธีการที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลผู้เป็นศิษย์หรือผู้ที่จะมอบตัวเข้าเป็นศิษย์ กระทำเพื่อแสดงความเคารพบูชา ระลึกถึงพระคุณของครูอาจารย์ของตน ในโอกาสแรกของการสมัครฝากตัวเป็นศิษย์หรือโอกาสแรกของรอบปีการศึกษา เพราะการเล่นโขน เล่นละครเป็นศิลปะที่มีความประณีต ละเอียดอ่อน และต้องอาศัยทักษะความชำนาญ ต้องใช้เวลาในการฝึกหัดนานๆ จึงจะสามารถแสดงเป็นตัวดีได้ และต้องฝึกหัดกันมาตั้งแต่ยังเด็กๆ เช่น เมื่อฝึกหัดตัวพระ ตัวนาง ก็ต้องสามารถรำเพลงช้า เพลงเร็วได้ จึงจะนับว่ารำเป็น ถ้าพอจะออกแสดงเป็นเสนาหรือนางกำนัลได้ จึงจะกำหนดให้ทำพิธีไหว้ครูได้ และเมื่อครูอาจารย์เห็นว่าศิษย์เหล่านั้นสามารถแสดงได้ดีแล้ว ครูจึง “ครอบ” ให้ เท่ากับอนุญาตให้แก่ศิษย์ นับแต่นั้นมาก็เป็นเสมือนว่าศิษย์นั้นๆ ได้รับความเห็นชอบใน “ความเป็นโขน ความเป็นละคร” แล้ว ซึ่งเป็นแบบแผนที่ถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณสืบเนื่องตั้งแต่โบราณกาล คนไทยเคารพบูชาครูอาจารย์ของตนในระดับสูง ในฐานะผู้มีอุปการคุณประสิทธิ์ประสาทความรู้ ศิษย์จึงต้องแสดงออกให้เห็นถึงความกตัญญูกตเวที กิจกรรมในพิธีไหว้ครูล้วนมีความหมายลึกซึ้ง ก่อให้เกิดอัตลักษณ์ของแต่ละพิธีการอย่างเด่นชัด เป็นกิจกรรมที่แฝงและบูรณาการไว้ด้วยภูมิปัญญาและคุณค่าอย่างชาญลาดของบรรพบุรุษไทย นำคุณธรรม จริยธรรมที่ประกอบด้วยความรัก ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความกตัญญูกตเวที ความมุ่งหวังในความเจริญก้าวหน้าในวิทยาการมาแสดงออกเป็นรูปธรรม เสริมสร้างขวัญกำลังใจ ความศรัทธา ความศักดิ์สิทธิ์ ความเป็นมงคลให้กับผู้ร่วมพิธีเข้าถึงจิตวิญญาณ เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติไทยสืบต่อไป

Full Text:

Untitled

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


**ไม่สามารถแก้ไขบทความ Proceeding online ทุกกรณี**