ผลกระทบของการเผาไหม้ในที่โล่งกับการเข้ารับบริการแผนกผู้ป่วยนอก ด้วยโรคระบบไหลเวียนเลือดและโรคระบบทางเดินหายใจในจังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย
Abstract
บทนำ: งานวิจัยทางระบาดวิทยาระบุว่ามลพิษอากาศจากการเผาไหม้ในที่โล่งมีความสัมพันธ์กับผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ แต่งานวิจัยดังกล่าวในประเทศไทยยังมีจำนวนจำกัด การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบระยะสั้นจากการรับสัมผัสมลพิษอากาศจากการเผาไหม้ในที่โล่งกับการเข้ารับบริการแผนกผู้ป่วยนอกด้วยโรคระบบไหลเวียนเลือดและโรคระบบทางเดินหายใจในจังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย วิธีการศึกษา: ข้อมูลจุดความร้อนได้จากระบบเซนเซอร์ Visible Infrared Imaging Radiometer Suite (VIIRS) จากดาวเทียม Suomi National Polar-orbiting Partnership (Suomi NPP) ในช่วงเดือนมกราคม 2559 ถึงเดือนธันวาคม 2563 และข้อมูลการเข้ารับบริการแผนกผู้ป่วยนอกในจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงเวลาเดียวกันได้จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งรูปแบบการศึกษาทางระบาดวิทยาประเภท Case-crossover design ที่ใช้สถิติแบบ Conditional logistic regression ได้นำมาใช้เพื่อประเมินผลกระทบระยะสั้นจากการรับสัมผัสมลพิษอากาศจากการเผาไหม้ในที่โล่งกับการเข้ารับบริการแผนกผู้ป่วยนอก โดยควบคุมตัวแปรกวนที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย ผลการวิจัย: จากช่วงระยะเวลาที่ศึกษาจำนวน 1,827 วัน พบว่ามีการเผาไหม้ในที่โล่งในจังหวัดเชียงใหม่ เกิดขึ้นจำนวน 865 วัน โดยการรับสัมผัสมลพิษอากาศในวันที่มีการเผาไหม้ในที่โล่งมีความเสี่ยงต่อการเข้ารับบริการแผนกผู้ป่วยนอกด้วยโรคระบบไหลเวียนเลือดเพิ่มขึ้น 5.85% (95% CI: 5.35-6.34) และโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น 4.45% (95% CI: 3.90-5.01) เมื่อเปรียบเทียบกับวันที่ไม่มีการเผาไหม้ในที่โล่ง สรุปผลและอภิปรายผล: การสัมผัสมลพิษอากาศจากการเผาไหม้ในที่โล่งมีความสัมพันธ์กับการเข้ารับบริการแผนกผู้ป่วยนอกด้วยโรคระบบไหลเวียนเลือดและโรคระบบทางเดินหายใจในจังหวัดเชียงใหม่ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยผลการวิจัยในครั้งนี้สามารถเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบาย หรือจัดตั้งระบบเตือนภัยเพื่อป้องกันความเสี่ยงของโรคระบบไหลเวียนเลือดและโรคระบบทางเดินหายใจ ที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสมลพิษอากาศจากการเผาไหม้ในที่โล่ง
Full Text:
UntitledRefbacks
- There are currently no refbacks.