ความสัมพันธ์ระหว่างแรงจูงใจภายในกับกรอบความคิดงอกงาม ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย จังหวัดปัตตานี โดยมีบุคลิกภาพเปิดรับประสบการณ์เป็นตัวแปรส่งผ่าน
Abstract
การวิจัยเชิงสำรวจครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาระดับกรอบความคิดงอกงาม แรงจูงใจภายใน และระดับบุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์ (2) เพื่อศึกษาอิทธิพลทางตรง อิทธิพลทางอ้อม และอิทธิพลรวมของแรงจูงใจภายในที่มีต่อกรอบความคิดงอกงามโดยมีบุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์เป็นตัวแปรส่งผ่านของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในจังหวัดปัตตานี จำนวน 120 คนคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยใช้การสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling) เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย แบบวัดชุดความคิด,แบบวัดบุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์และแบบวัดแรงจูงใจภายใน มีค่าความเชื่อมั่น 0.725 ,0.804 และ 0.982 ตามลำดับ วิเคราะห์ผลการศึกษาโดยใช้การวิเคราะห์การถดถอยแบบง่าย ในการวิเคราะห์อิทธิพลของตัวแปรและใช้ การวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณเชิงชั้นในการวิเคราะห์อิทธิพลตัวแปรส่งผ่าน
ผลการวิจัยพบว่า
1) นักเรียนกลุ่มตัวอย่างโดยรวมมีกรอบความคิดก้ำกึ่ง ระหว่างกรอบความคิดแบบตายตัวและกรอบความคิดงอกงาม ระดับบุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์ปานกลาง ระดับแรงจูงใจภายในต่ำ
2) แรงจูงใจภายในมีอิทธิพลทางตรงต่อกรอบความคิดงอกงาม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีค่าอิทธิพลทางตรงเท่ากับ 15.4 (R2= 0.154)
3) แรงจูงใจภายในมีอิทธิพลทางอ้อมต่อกรอบความคิดงอกงามผ่านบุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีค่าอิทธิพลทางอ้อมเท่ากับ 3.1 (R2= 0.031)
4) บุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์เป็นตัวแปรส่งผ่านแบบบางส่วนระหว่างปัจจัยแรงจูงใจภายในที่มีต่อกรอบความคิดงอกงาม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ที่ระดับ .05 และอิทธิพลรวมของแรงจูงใจภายในผ่านบุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์ที่มีต่อกรอบความคิดงอกงามเท่ากับ 18.5 (R2= 0.185)Full Text:
UntitledRefbacks
- There are currently no refbacks.