การสื่อสารเพื่อการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านพุน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

พัชรี นิลมานนท์, หฤทัย ปัญญาวุธตระกูล, สุภาภรณ์ ศรีดี

Abstract


การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) กระบวนการการสื่อสาร และ 2)แนวทางการสื่อสารเพื่อ  การวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านพุน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก เลือกผู้ให้ข้อมูลหลักแบบเจาะจง จำนวน 25 คน  ประกอบด้วย (1) สภาผู้นำบ้านพุน้อย (2) กรรมการกองทุนหมู่บ้านพุน้อย และ  (3) สมาชิกกองทุนหมู่บ้านพุน้อย เครื่องมือการวิจัย คือ การสัมภาษณ์เชิงลึกแบบมีโครงสร้าง  วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการสร้างข้อสรุปเชิงพรรณาความ ผลการวิจัยพบว่า 1) กระบวนการการสื่อสารเพื่อการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านพุน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้แก่ ผู้ส่งสาร คือ คณะกรรมการกองทุนมีการสื่อสารกับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านในเรื่องการกู้ยืมเงิน การชำระดอกเบี้ย แต่ยังไม่ค่อยมีการสื่อสารเรื่องการวางแผนการเงินส่วนบุคคลเนื่องจากคณะกรรมการกองทุนยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล และยังไม่มีการประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อมาจัดกิจกรรมส่งเสริมหรือให้ความรู้กับสมาชิกกองทุนอย่างต่อเนื่อง  เนื้อหาสาร เกี่ยวกับการวางแผนการเงินส่วนบุคคลยังไม่ถูกต้อง ครบถ้วน ครอบคลุม ใช้สื่อบุคคลเป็นหลักทำให้ประชาชนมีทัศนคติที่ขัดต่อการออมเงินนำไปสู่พฤติกรรมทางการเงินที่ไม่ถูกต้องส่งผลให้เห็นได้ชัดเจนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  2) แนวทางการสื่อสารในการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล (1) ประธานกองทุนหมู่บ้านพุน้อย ควรส่งเสริมให้ความรู้กับคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน เช่น อบรม ศึกษาดูงาน เพื่อให้กรรมการกองทุนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการวางแผนทางการเงินส่วนบุคลอย่างถูกต้อง (2) เนื้อหาสาร ควรเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล และการออมเงินต่าง ๆ คือ ข้อมูลและวิธีการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย การสร้างรายได้ การใช้จ่ายเงิน และความรู้ด้านการออมเงินและการวางแผนการเงินให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน (3) ช่องทางการสื่อสาร  สื่อบุคคล คือ กรรมการกองทุนหมู่บ้าน  สื่อดั้งเดิม  คือ แผ่นพับ หอกระจายข่าวหมู่บ้าน และสื่อออนไลน์คือ ไลน์กลุ่ม เฟซบุ๊ค  (4) วางแผนการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่คาดว่าจะเป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้านในอนาคต เช่น กลุ่มเครือญาติของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านเดิม และ(5) การประเมินผลการเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ ปรับปรุงแก้ไขกระบวนการสื่อสารและวางแผนการสื่อสารให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น

Full Text:

Untitled

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


**ไม่สามารถแก้ไขบทความ Proceeding online ทุกกรณี**