การสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะของบ้านคลองปีกนก จังหวัดสมุทรสาคร

ณภัค โรจน์รุ่ง, หฤทัย ปัญญาวุธตระกูล, วิทยาธร ท่อแก้ว

Abstract


การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) กระบวนการสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะ และ 2) แนวทางการพัฒนาการสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะของบ้านคลองปีกนก จังหวัดสมุทรสาคร การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสนทนากลุ่ม เลือกผู้ให้ข้อมูลหลักแบบเจาะจง จำนวน 22 คน ประกอบด้วย (1) ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลท่าทราย (2) ผู้ปฏิบัติงานด้านการจัดการขยะของตำบลท่าทราย (3) ผู้นำชุมชน (4) กรรมการหมู่บ้านประชาชนในชุมชน (5) ผู้ประกอบการหอพัก/ห้องเช่า (6) ผู้แทนประชาชนที่มีถิ่นฐานถาวร (7) ผู้แทนประชากรแฝงคนไทย (8) ผู้แทนประชากรแฝงต่างชาติ และ (9) นักวิชาการ เครื่องมือการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์เชิงลึกแบบมีโครงสร้างและการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการสร้างข้อสรุปเชิงพรรณาความ ผลการวิจัยพบว่า 1) กระบวนการสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะบ้านคลองปีกนก (1) องค์การบริหารส่วนตำบลท่าทรายสื่อสารถึงผู้ใหญ่บ้าน บ้านคลองปีกนกรับทราบโครงการเกี่ยวกับการจัดการขยะ เพื่อให้ดำเนินการโครงการในพื้นที่ของตนเอง มีการสะท้อนปัญหาขยะของหมู่บ้านผ่านการประชุมมีรูปแบบการสื่อสารแบบบนลงล่าง (2) เนื้อหาสารเน้นให้ผู้นำชุมชนได้รับความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะ (3) ช่องทางการสื่อสาร คือ สื่อบุคคล สื่อกิจกรรมที่เน้นการศึกษาดูงานให้ผู้ใหญ่บ้านคลองปีกนกนำมาถ่ายทอดให้กับประชาชนในชุมชน (5) ผู้รับสาร ชาวบ้านคลองปีกนกมีการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาขยะผ่านผู้นำชุมชนเพื่อให้จัดการแก้ไข (4) ผลกระบวนการสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ผู้ที่มีส่วนร่วมในการจัดการขยะยังเป็นกลุ่มผู้นำชุมชน ประชาชนในหมู่บ้านคลองปีกนกยังไม่ได้มีส่วนร่วมในการสะท้อนปัญหาขยะ มีส่วนร่วมในการจัดการขยะ มีส่วนร่วมในการวิธีการแก้ไขปัญหาขยะรวมกัน และประชาชนยังมีทัศนคติเรื่องการจัดการขยะเป็นหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าทราย 2) แนวทางการพัฒนาการสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะ (1) องค์การบริหารส่วนตำบลท่าทราย ศึกษาข้อเท็จจริงในปัญหาขยะของบ้านคลองปีกนกจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชน โดยการจัดกิจกรรมเพื่อวิเคราะห์ปัญหาขยะ และร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกันในชุมชน ประกอบด้วย ชาวบ้านในชุมชน ผู้ประกอบการหอพัก/ห้องเช่า ผู้แทนประชาชนที่มีถิ่นฐานถาวร ผู้แทนประชากรแฝงคนไทย ผู้แทนประชากรแฝงต่างชาติ (2) สร้างเครือข่ายการจัดการขยะที่มีตัวแทนชาวบ้านในหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการจัดการขยะร่วมกัน (3) สร้างความรู้ ทัศนคติและพฤติกรรมของชาวบ้านคลองปีกนกอย่างถูกต้องในเรื่องปัญหาขยะ และการจัดการขยะเป็นเรื่องส่วนร่วมที่ทุกคนในชุมชนร่วมกันรับผิดชอบ

Full Text:

Untitled

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


**ไม่สามารถแก้ไขบทความ Proceeding online ทุกกรณี**