การสำรวจและรวบรวมพืชวัตถุสำหรับใช้ในการรักษาโรคโลหิตสตรีของ หมอไข่ โกสินทร์ ตำบลท่าชะมวง อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา

อภิฤดี หาญณรงค์

Abstract


การศึกษาวิจัย เรื่อง การสำรวจและรวบรวมพืชวัตถุสำหรับใช้ในการรักษาโรคโลหิตสตรีของหมอไข่  โกสินทร์ ตำบลท่าชะมวง อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เป็นการวิจัยที่ใช้รูปแบบการสำรวจเชิงพรรณนา (Descriptive Survey) มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจ และรวบรวมพืชวัตถุสำหรับใช้ในการรักษาโรคโลหิตสตรี รวมไปถึงการศึกษาตำรับยา และจำแนกชนิดสมุนไพร ได้ทำการเก็บรวมรวมข้อมูลโดยใช้การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) ด้วยการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ (Informal Interview) และสอบถามบุคคลข้างเคียงที่รู้เรื่องใช้การสังเกตทั้งแบบมีส่วนร่วม (Participant Observation) และแบบไม่มีส่วนร่วม (Non-participant Observation) การศึกษาตัวอย่างพืชสมุนไพรโดยการจัดเก็บสมุนไพรแห้ง (Herbarium) และการศึกษาข้อมูลพืชจากเอกสาร หนังสือ ซึ่งได้ข้อมูลต่างๆ ดังนี้

ผลการศึกษา พบว่า หมอไข่  โกสินทร์ ทำการรักษาโรคโลหิตสตรีจากการถ่ายทอดองค์ความรู้มาจากบรรพบุรุษ ร่วมกับประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปี มีพืชสมุนไพรที่หมอไข่ใช้รักษาโรคโลหิตสตรีเป็นจำนวนทั้งสิ้น 41 ชนิด โดยสามารถจำแนกได้เป็น 23 วงศ์ 35 สกุล โดยจัดอยู่ในประเภทพืชใบเลี้ยงคู่ จำนวน 18 วงศ์ 24 สกุล 27 ชนิด ประเภทพืชใบเลี้ยงเดี่ยว จำนวน 5 วงศ์ 11 สกุล 14 ชนิด ตัวยาสมุนไพรที่หมอไข่ใช้มากสุดจัดอยู่ในวงศ์ ZINGIBERACEAE จำนวน 8 ชนิด รองลงมา คือ วงศ์ UMBELLIFERAE จำนวน 3 ชนิด วงศ์ PIPERACEAE RUBIACEAE MENISPERMACEAE RUTACEAE PLUMBAGINACEAE ANNONACEAE ALLIACEAE COMPOSITAE และ POACEAE พบอย่างละ 2 ชนิด ส่วนในวงศ์อื่นๆ พบอย่างละ 1 ชนิด จากการศึกษาอาการเกี่ยวกับโรคโลหิตสตรีที่หมอไข่ได้ทำการรักษาจำนวนทั้งหมด 8 อาการ และมีตำรับยาสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาจำนวนทั้งหมด 9 ตำรับยา โดยเมื่อวิเคราะห์พืชสมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในตำรับยารักษาโรคโลหิตสตรี ทำให้ทราบว่าพืชสมุนไพรที่หมอไข่ใช้ส่วนใหญ่เป็นพืชสมุนไพรมีรสร้อน หรือเผ็ดร้อน ช่วยในการขับเลือด ขับลม และพืชสมุนไพรบางตัวก็มีสรรพคุณ ทั้งฟอกโลหิต ขับโลหิต และบำรุงโลหิตไปด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น กระเทียม พริกไทย ฯลฯ

ซึ่งพืชสมุนไพรส่วนใหญ่ได้จากการปลูกไว้บริเวณบ้าน และหาตามแหล่งธรรมชาติ คือ ป่า เขา ริมคลอง ริมถนน ฯลฯ แต่บางครั้งสมุนไพรที่ต้องการอาจไม่มี หรือหายากจำเป็นที่ต้องไปซื้อจากร้านยาสมุนไพร โดยเมื่อหมอไข่ได้พืชสมุนไพรมาก็จะนำพืชสมุนไพรเหล่านั้นมาทำการแปรรูปด้วยการตากแห้ง และใช้สด แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว มักใช้ทั้งสด และแห้ง เมื่อผ่านกระบวนการแปรรูปเสร็จหมอไข่ ก็จะนำสมุนไพรดังกล่าวข้างต้น มาผลิตเป็นยาสมุนไพรใช้รักษาผู้ป่วยใน 2 รูปแบบ คือ แบบยาต้ม และแบบยาผง หรืออาจจะทำเป็นยาได้ทั้งยาต้ม และยาผงก็ได้ แต่ผล หรือประสิทธิภาพของยาในการรักษาจะดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้ป่วยด้วยว่าได้ปฏิบัติตามข้อห้าม และคำแนะนำของหมอได้ทุกประการหรือไม่

Full Text:

Untitled

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


**ไม่สามารถแก้ไขบทความ Proceeding online ทุกกรณี**