การจัดสวัสดิการและความต้องการของผู้สูงอายุกรณีศึกษาผู้สูงอายุ อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี

สุมลพร ตะน่าน, ปวิช เฉลิมวัฒน์

Abstract


การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสม ระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ เน้นความสำคัญของการวิจัยเชิงปริมาณ โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาความคิดเห็นกับความต้องการสวัสดิการสังคมของผู้สูงอายุ อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี 2) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นและความต้องการสวัสดิการสังคมของผู้สูงอายุในอำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี การวิจัยเชิงคุณภาพทำการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างที่เป็นหัวหน้าส่วนหรือข้าราชการที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในส่วนภูมิภาค จำนวน 10 คน หน่วยงานละ 1 คน ทั้งนี้ได้นำความคิดเห็นและความต้องการมาสรุปตามประเด็นต่าง ๆ สำหรับการวิจัยเชิงปริมาณ ทำการสอบถามผู้สูงอายุในอำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี โดยใช้แบบสอบถาม จำนวน 400 คน ทำการสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ หรือตามสัดส่วนของผู้สูงอายุที่มีในอำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานีสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทดสอบ t-test สถิติทดสอบ F-test และทดสอบความแตกต่างค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่โดยวิธี  LSD

ผลการวิจัยเชิงคุณภาพ พบว่า หัวหน้าส่วนหรือข้าราชการที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ มีความเห็นว่า ผู้สูงอายุนั้นต้องการให้หน่วยงานรัฐให้ความช่วยเหลือในด้านการจัดสวัสดิการให้ทั่วถึง และรวดเร็ว โดยเฉพาะการส่งต่อในกรณีฉุกเฉิน แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้สูงอายุอย่างแท้จริง สร้างความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานและคุณภาพการบริการ เพื่อให้สนองต่อความต้องการของผู้สูงอายุ หัวหน้าส่วนหรือข้าราชการที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ มีความคิดเห็นว่าควรมีการปรับปรุงฐานข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุให้ทันสมัย ถูกต้อง และครบถ้วน มีการปรับปรุงและควบคุมคุณภาพของโรงพยาบาลและสถานพยาบาล ทุกแห่งให้ได้มาตรฐาน เสริมสร้างสุขภาพอนามัย สร้างหลักประกันด้านรายได้ การออมเพื่อวัยหลังเกษียณ รวมถึงการขยายเกณฑ์กำหนดเกษียณอายุจาก 60 ปีเป็น 65 ปี เพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้และได้ใช้ประสบการณ์ และศักยภาพอย่างเต็มที่ รวมถึงเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

ผลการวิจัยเชิงปริมาณ พบว่า ผู้สูงอายุเพศชายและเพศหญิงมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน มีอายุอยู่ในช่วง 60–69 ปี มีสถานภาพสมรสมากที่สุด การศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษา หนึ่งในสามของผู้สูงอายุไม่ได้ประกอบอาชีพ มีรายได้ต่อเดือนอยู่ในช่วง 3,001–5,000 บาท  ความคิดเห็นของผู้สูงอายุจะให้ความสำคัญกับการสร้างบริการและเครือข่ายการเกื้อหนุน ด้านความมั่นคงทางครอบครัว สังคม เมื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของผู้สูงอายุ พบว่า มีความคิดเห็นเกี่ยวกับสวัสดิการสังคมของผู้สูงอายุไม่แตกต่าง รายได้ต่อเดือนของผู้สูงอายุไม่แตกต่างกัน ในขณะที่ด้านความมั่นคงทางครอบครัว สังคม ผู้ดูแลและการคุ้มครอง มีความแตกต่างกัน  สำหรับความต้องการของผู้สูงอายุเกี่ยวกับสวัสดิการสังคม ทั้งความต้องการภาพรวมและความต้องการรายด้าน อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณา เพศ อายุ และอาชีพที่ต่างกัน ผู้สูงอายุมีความต้องการเกี่ยวกับสวัสดิการสังคม โดยภาพรวมไม่แตกต่างกัน ได้แก่ ด้านอาชีพและรายได้ ด้านการสร้างบริการและเครือข่ายการเกื้อหนุน ด้านที่พักอาศัย ด้านความมั่นคงทางครอบครัว สังคม ผู้ดูแล และการคุ้มครอง ยกเว้น ด้านสุขภาพอนามัยและการรักษาพยาบาล และด้านนันทนาการ ที่ไม่มีความต้องการที่แตกต่างกัน

Full Text:

Untitled

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


**ไม่สามารถแก้ไขบทความ Proceeding online ทุกกรณี**