การศึกษาความสามารถในการแข่งขันและการวิเคราะห์ผลิตภาพในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย

สุนีรัตน์ จุ่นเจริญ, วรดี จงอัศญากุล

Abstract


การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยในตลาดโลกเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่สำคัญ ได้แก่ จีนและเวียดนาม และประมาณค่าความยืดหยุ่นของผลผลิตอันเนื่องมาจากปัจจัยการผลิตต่างๆ ในช่วงปี พ.ศ.2545-2559

ผลการศึกษาการวิเคราะห์ความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เมื่อพิจารณาค่า RCA ของทั้ง 3 ประเทศ คือ จีน เวียดนาม และไทย จะเห็นได้ว่าโดยภาพรวมค่า RCA เฉลี่ยของประเทศจีนอยู่ที่ 3.52 ซึ่งต่ำกว่าประเทศเวียดนาม ค่า RCA เฉลี่ยของประเทศเวียดนามอยู่ที่ 5.59  เนื่องจากประเทศจีนส่งออกสินค้าชนิดอื่นเป็นจำนวนมากด้วย ทำให้เมื่อคำนวณค่าออกมาแล้วประเทศเวียดนามมีความได้เปรียบมากกว่าจีน แต่ถ้าเทียบจากส่วนแบ่งการตลาด โดยสรุปจีนเป็นประเทศส่งออกเสื้อผ้ามากที่สุดของโลกตั้งแต่ปี 2545 ในส่วนของประเทศไทยจะเห็นได้ว่าค่า RCA ของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงตลอดช่วงปี 2545-2559 จนมีค่า RCA ต่ำกว่า 1 ตั้งแต่ปี 2552 และมีค่า RCA ต่ำกว่าประเทศจีนและเวียดนามมาก ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยมีความเสียเปรียบโดยเปรียบเทียบการแข่งขันในตลาดเครื่องนุ่งห่มโลกเนื่องจากประเทศไทยมีค่าแรงงานที่สูงและความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีต่ำ

ในส่วนของการประมาณค่าความยืดหยุ่นของผลผลิตอันเนื่องมาจากปัจจัยการผลิตต่างๆ และค่าผลิตภาพปัจจัยการผลิตรวมของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ผลการวิเคราะห์พบว่าอัตราการเติบโตของปัจจัยการผลิตทุนและแรงงานมีความสัมพันธ์กับอัตราการเติบโตของผลผลิตอย่างมีนัยสำคัญ มีค่าความยืดหยุ่นของผลผลิตอันเนื่องมาจากปัจจัยทุนเท่ากับ 0.4366 มีค่าสถิติ t เท่ากับ 3.3526 และค่า P-value เท่ากับ 0.0010 แสดงว่าอัตราการเติบโตของปริมาณทุนมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับอัตราการเติบโตของปริมาณการผลิตรวม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 99 นั่นคือ อัตราการเติบโตของทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ทำให้อัตราการเติบโตของผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4366 และค่าความยืดหยุ่นของผลผลิตอันเนื่องมาจากปัจจัยแรงงานมีค่าเท่ากับ 0.0083 มีค่าสถิติ t เท่ากับ 1.0359 และค่า P-value เท่ากับ 0.3017 แสดงว่าอัตราการเติบโตของปริมาณแรงงานมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับอัตราการเติบโตของปริมาณการผลิตรวม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 99 นั่นคืออัตราการเติบโตของแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ทำให้อัตราการเติบโตของผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.0083

ดังนั้น ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยให้มีการเติบโตและมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น นอกจากการเพิ่มปัจจัยทุนและแรงงานแล้วภาครัฐควรเน้นในเรื่องการพัฒนาคุณภาพโดยการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน การส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มสามารถแข่งขันและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน


Full Text:

Untitled

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


**ไม่สามารถแก้ไขบทความ Proceeding online ทุกกรณี**