การกำหนดนโยบายการจดทะเบียนคู่ชีวิตในประเทศไทย

พรชัย ปานอ่อน

Abstract


      การศึกษาเรื่อง การกำหนดนโยบายคู่ชีวิตในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์หลักในการศึกษา พัฒนาการของการกำหนดนโยบายการจดทะเบียนคู่ชีวิตของไทย กระแสต่าง ๆ ที่ผลักดันให้ก่อเกิดนโยบายการจดทะเบียนคู่ชีวิตของไทย ตลอดจนศึกษาบทบาทของตัวแสดงที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายการจดทะเบียนคู่ชีวิตของไทย ระเบียบวิธีวิจัยครั้งนี้เป็นการผสมผสานวิธีวิจัยเชิงคุณภาพและวิธีวิจัยเชิงปริมาณ ด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพเป็นหลัก และใช้การวิจัยเชิงปริมาณควบคู่กันไป โดยการวิจัยเชิงคุณภาพอาศัยแนวทางทั้งการสังเกต และสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญได้แก่ นักการเมือง ข้าราชการ และองค์กรพัฒนาเอกชน จำนวนทั้งหมด 13 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง (Semi- structured form) กล้องถ่ายรูปและเครื่องบันทึกเสียงแบบดิจิตอล ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ส่วนการวิจัยเชิงปริมาณจะอาศัยรูปแบบการสำรวจประชาชนทั้ง 4 ภาคของประเทศไทย ซึ่งเท่ากับประชากรเป็นอนันต์ และใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ (stratified sampling) ได้จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 10,202 คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการวิจัย และใช้การวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ SPSS ซึ่งสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ (1) สถิติเชิงพรรณนา ใช้วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไป ได้แก่ ค่าสถิติร้อยละ (percentage) ค่าความถี่ (frequencies) ค่าเฉลี่ย (mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation) (2) สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทดสอบสมมติฐานได้แก่ สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistic) และสถิติเชิงอนุมาน (Inferential statistic) โดยใช้ค่าสัมประสิทธิสหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (Pearson’s Correlation Coefficient)

      ผลการศึกษาพบว่า ด้านพัฒนาการของการกำหนดการจดทะเบียนคู่ชีวิตในประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นจากความต้องการใช้สิทธิในการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกัน และปัญหาการขาดสิทธิต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการจดทะเบียนสมรส คู่รักเพศเดียวกันคู่หนึ่งจึงไปร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนของรัฐสภา จนเป็นที่มาของการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียน และนำไปสู่การจัดทำร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. .... ขึ้นในที่สุด 

       ในการศึกษาเกี่ยวกับกระแสที่เป็นปัจจัยต่อการกำหนดนโยบายการจดทะเบียนคู่ชีวิตพบว่า ด้านกระแสปัญหา ปัญหาที่สำคัญที่สุดของคู่รักเพศเดียวกันคือ การที่ไม่มีกฎหมายรองรับสถานะของการอยู่ร่วมกัน ทำให้ขาดสิทธิตามกฎหมายที่เกิดจากการสมรส เช่น สิทธิในการจัดการทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน สิทธิในการทำสัญญาประกันชีวิต สิทธิการเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ สิทธิในการกู้เงินร่วมกัน ฯลฯ ด้านกระแสนโยบาย พบว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่เปิดรับแนวคิดที่ให้มีกฎหมายเพื่อรับรองสถานะในการอยู่ร่วมกันของคู่รักเพศเดียวกันได้ และด้านกระแสการเมือง พบว่า นโยบายการจดทะเบียนคู่ชีวิต ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรค ดังนั้นนโยบายของพรรคการเมืองจึงไม่มีผลต่อนโยบายการจดทะเบียนคู่ชีวิตแต่อย่างใด  

        อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาบทบาทของตัวแสดงที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายการจดทะเบียนคู่ชีวิต พบว่า สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มผู้สนับสนุนกฎหมายซึ่งร่างขึ้นโดยฝ่ายพรรคการเมืองและข้าราชการ และอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มผู้สนับสนุนกฎหมายซึ่งร่างขึ้นโดยองค์กรอิสระและเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ ความคิดเห็นที่แตกต่างกันในสาระสำคัญของร่างกฎหมายการจดทะเบียนคู่ชีวิตในประเทศไทยของทั้งสองกลุ่มนี้ มีผลทำให้การผลักดันให้การกำหนดนโยบายการจดทะเบียนคู่ชีวิตในประเทศไทยต้องล่าช้าออกไปอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งทำให้หน้าต่างนโยบายไม่สามารถเปิดได้ในขณะนี้

Keywords


นโยบายการจดทะเบียนคู่ชีวิตในประเทศไทย, คู่รักเพศเดียวกัน, การจดทะเบียนคู่ชีวิต

Full Text:

Untitled

References


กรมคุ้มครองสิทธิฯ. (2556). ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต. สืบค้นเมื่อ กุมภาพันธ์ 4, 2558, จาก http://www.rlpd.moj.go.th/rlpdnew_now/index.php/2013-10-03/1523-2013-10-03-09-23-37.

“ดัน 'พ.ร.บ.คู่ชีวิต' เข้าสภา-เครือข่าย LGBT ติงยังมีข้ออ่อน”. (2556, เมษายน 2556). ประชาไท. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 1, 2558, จาก http://www.prachatai.com/journal/2013/04/46314.

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ. (2554). ปริญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (พิมพ์ครั้งที่ 3). นนทบุรี: สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ.

จันทร์จิรา บุญประเสริฐ (บรรณาธิการ). (2554). ชีวิตที่ถูกละเมิด เรื่องเล่า กะเทย ทอมดี้ หญิงรักหญิง ชายรักชาย และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย.

ณนุช ทองคำ. (2546). การสมรสของพวกรักร่วมเพศ. วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ณัฐวุฒิ จินารัตน์. (2554). กระบวนการผลักดันนโยบายสาธารณะ : ศึกษากรณี ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2550. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ. (2558). สิทธิที่จะสร้างครอบครัวคือสิทธิมนุษยชน. สืบค้นเมื่อ กรกฎาคม 16, 2558, จาก http://forsogi.org.

ประเวศ วะสี. (2550). กระบวนการผลักดันนโยบายสาธารณะ: แนวคิดเชิงยุทธศาสตร์กับเครื่องมือใน การขับเคลื่อน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสาธารณะสุขแห่งชาติ.

ไพศาล ลิขิตปรีชากุล. (2552). หลักการยอกยาการ์ตา ว่าด้วยการใช่กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ (พิมพ์ครั้งที่ 2). นนทบุรี: สำนักงานคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ.

สมชาย ปรีชาศิลปกุล. (2556). บุคคลเพศหลากหลายในระบบกฎหมาย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อสิทธิและ ความเป็นธรรมทางเพศ.

“เกย์นที ฝันสลาย ควงหนุ่มจดทะเบียน-ถูกปฏิเสธ”. (2555, 9 สิงหาคม). ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 1, 2558, จาก http://www.thairath.co.th/content/282377.

Anderson, J.E. (ed.). (1975). Public Policy and Politics in America. Monterey. CA.: Brooks/Cole Publishing Company.

Dye, T.R. (1998). Understanding Public Policy. Englewood Cliffs: Prentice-Hall, Inc.

Kingdom, J.W. (2003). Agendas, Alternatives and Public policies. Boston: Little, B.

PEW Research Center. (2015). Gay Marriage Around the World. ค้นเมื่อ มิถุนายน 10, 2558, จาก http://www.pewforum.org/2015/06/01/gay-marriage-around-the-world-2013.


Refbacks

  • There are currently no refbacks.


ยินดีรับบทความวิชาการทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในวารสารใดมาก่อน กองบรรณาธิการขอสงวนสิทธิ์ในการแก้ไขต้นฉบับและการพิจารณาตีพิมพ์ตามลำดับก่อนหลัง