ปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้สัญญาให้บริการข้ามแดนระหว่างประเทศของโทรศัพท์เคลื่อนที่

ชุติมา อนันชาตรี

Abstract


       วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการวิจัยเพื่อศึกษาแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการข้ามแดนระหว่างประเทศและสัญญาให้บริการข้ามแดนระหว่างประเทศ เพื่อศึกษามาตรการทางกฎหมายที่ใช้บังคับสำหรับสัญญาให้บริการข้ามแดนระหว่างประเทศ เพื่อศึกษาวิเคราะห์ปัญหาพร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางหรือมาตรการที่เหมาะสมเกี่ยวกับการบังคับใช้สัญญาให้บริการข้ามแดนระหว่างประเทศ เนื่องจากสมาคมผู้ประกอบการจีเอสเอ็ม (GSM Association: GSMA) ได้กำหนดมาตรฐานสัญญาให้บริการข้ามแดนระหว่างประเทศ (International Roaming Agreement) สำหรับผู้ให้บริการโทรศัพท์ เคลื่อนที่ (Mobile Operator) ลงนามร่วมกันก่อนที่จะให้เปิดให้บริการข้ามแดนระหว่างประเทศ เพื่อให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เดินทางไปยังประเทศของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อีกประเทศหนึ่งสามารถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้อย่างสะดวกสบาย ในทางปฏิบัติ การเจรจาตกลงเพื่อเข้าทำสัญญาให้บริการข้ามแดนระหว่างประเทศได้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้สัญญาให้บริการข้ามแดนระหว่างประเทศซึ่งคู่สัญญาได้ใช้ข้อความแตกต่างไปจากข้อความมาตรฐานที่ GSMA กำหนดไว้ เช่น เรื่องการการเลือกกฎหมาย (Choice of Law) ที่จะนำมาใช้บังคับ กำหนดไว้ว่า “สัญญานี้และเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสัญญานี้ให้ใช้บังคับและตีความตามกฎหมายของสวิสเซอร์แลนด์ ” อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทยไม่เห็นด้วยกับการใช้ข้อความดังกล่าวของ GSMA โดยมีความเห็นว่าควรให้ใช้กฎหมายไทยและศาลไทยบังคับกับสัญญาดังกล่าว ซึ่งคู่สัญญาต่างประเทศไม่ยอมรับในการบังคับกฎหมายไทยและระบบศาลไทยด้วย

       จากการศึกษาพบว่าในการเข้าทำสัญญาให้บริการข้ามแดนระหว่างประเทศของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ถึงแม้ว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยจะไม่มีอำนาจต่อรองทัดเทียมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่างประเทศ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยก็สามารถเจรจาต่อรองเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการทำสัญญาให้บริการข้ามแดนระหว่างประเทศได้ โดยเป็นไปตามหลักที่ว่าคู่สัญญามีเสรีภาพในการทำสัญญาและความศักดิ์สิทธิ์ในการแสดงเจตนา คู่สัญญาจะตกลงในการทำสัญญากันอย่างไรก็ได้ตราบเท่าที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งนี้ ภายใต้บังคับที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์ เคลื่อนที่ในประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ของ กสทช. ในฐานะเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งยังจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในมาตรฐานสัญญาของ GSMA ในฐานะที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกภาพของ GSMA ด้วย

        ดังนั้น ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) ว่าในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมาบังคับใช้ ข้อมูลส่วนบุคคลก็ยังคงจะถูกล่วงละเมิด ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่เจ้าของข้อมูลได้ จึงควร บัญญัติกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่ใช่กฎหมายเป็นการทั่วไปมาใช้บังคับและ ควรกำหนดหน่วยงานเพื่อมีอำนาจในการใช้ เก็บรักษาและเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลไว้โดยเฉพาะ รวมถึงกำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลไว้ให้ชัดเจน ส่วนปัญหาเกี่ยวกับการเลือกกฎหมาย (Choice of Law) ที่จะนำมาใช้บังคับ ควรแก้ไขปรับปรุงกฎหมายของไทยให้มีเนื้อหาที่ครอบคลุมชัดเจนในการตีความในประเด็นการขัดกันของกฏหมายเพื่อจะได้นำมาใช้ในการเจรจาต่อรองกับคู่สัญญาต่างประเทศได้ง่ายมากยิ่งขึ้น สำหรัยปัญหาเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทและอนุญาโตตุลาการ (Dispute Resolution & Arbitration) ยังมีมติคณะรัฐมนตรี หรือข้อบังคับ ที่เกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการหลายเรื่องที่ยังปิดกั้น หรือเป็นอุปสรรคมิให้คนต่างด้าวเข้ามาใช้ หรือดำเนินการอนุญาโตตุลาการในประเทศไทย จึงควรแก้ใขมติคณะรัฐมนตรี หรือข้อบังคับให้คนต่างด้าวหรือต่างประเทศเข้ามาใช้ หรือดำเนินการอนุญาโตตุลาการในประเทศไทยได้ เพื่อให้เกิดความสะดวกและประหยัดเวลา ขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการคดี

 


Keywords


การบังคับใช้สัญญา, บริการข้ามแดนระหว่างประเทศ, โทรศัพท์เคลื่อนที่

Full Text:

Untitled

References


กมล สนธิเกษตริน. (2539). คำอธิบายกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ:บรรณาการ.

ไชยยศ เหมะรัชตะ. กฎหมายว่าด้วยสัญญา (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: นิติบรรณาการ.

ดำเนิน ทรัพย์ไพศาล. (2530). กฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญาธุรกิจระหว่างประเทศ. วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สุชาดา ตันติราพันธ์. (2545). การศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจสมัครใช้บริการข้ามแดนอัตโนมัติของผู้ใช้บริการในระบบเครือข่ายดิจิตอลจีเอสเอ็ม 900 ในเขตกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.


Refbacks

  • There are currently no refbacks.


ยินดีรับบทความวิชาการทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในวารสารใดมาก่อน กองบรรณาธิการขอสงวนสิทธิ์ในการแก้ไขต้นฉบับและการพิจารณาตีพิมพ์ตามลำดับก่อนหลัง