ปัญหาเกี่ยวกับการทำสัญญาประกันชีวิตทางโทรศัพท์ที่มีเงื่อนไข ไม่ต้องตรวจสุขภาพหรือไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ

วันดี พละศึก

Abstract


        การเกิดสัญญาประกันชีวิตทางโทรศัพท์ในปัจจุบันเป็นการทำสัญญาที่พัฒนาการขึ้นมาอีก ขั้นหนึ่งของการทำสัญญา โดยที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 20 ว่าด้วยประกันภัย เกิดขึ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2468 ในขณะนั้นการทำสัญญาจึงเป็นการเข้าทำสัญญาต่อบุคคลผู้อยู่เฉพาะหน้ามากกว่าการที่จะใช้เทคโนโลยีในการทำสัญญา ทำให้กฎหมายที่มีอยู่เป็นการทำสัญญาต่อบุคคลที่อยู่เฉพาะหน้า แต่ในปัจจุบันการทำสัญญาประกันชีวิตได้พัฒนารูปแบบขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง คือ มีการขายประกันโดยผ่านพนักงานตัวแทน ด้วยวิธีการโทรศัพท์ไปชักจูงใจผู้บริโภค ในขณะที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยังไม่มีการแก้ไข ปรับปรุง หลักเกณฑ์ วิธีการที่จะรองรับการทำสัญญาประกันภัยทางโทรศัพท์ไว้เลย ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่กฎหมายไม่มีการพัฒนารองรับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ก็คือ คู่สัญญามีการเอารัดเอาเปรียบกัน โดยการใช้เงื่อนไขตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 20 ว่าด้วยประกันภัย ไม่ว่าในเรื่องของหลักฐานเป็นหนังสือ ไม่ว่าในเรื่องของเงื่อนไขการตรวจสุขภาพหรือแถลงข้อความจริงในขณะทำสัญญาผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ก็คือ ปัญหาในการฟ้องร้องบังคับคดีที่กระทำได้ยาก โดยประเด็นปัญหาสำคัญ ซึ่งคู่สัญญาโต้แย้งระหว่างกันได้ ก็คือ สัญญาประกันชีวิตที่ยังไม่เกิดขึ้นหรือไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องบังคับคดี

       จากการศึกษาพบว่า การเกิดขึ้นของสัญญาประกันภัยทางโทรศัพท์ในประเทศอังกฤษมีกฎหมายแม่แบบว่าด้วยการพาณิชย์ทางอิเล็กทรอนิกส์ (Model law on Electronic commerce) คำว่า “อิเล็กทรอนิกส์” นั้นการทำสัญญาทางอิเล็กทรอนิกส์ยังครอบคลุมไปถึงการทำสัญญาประกันภัยทางโทรศัพท์ด้วย การบันทึกเทปทางโทรศัพท์จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เมื่อสัญญาได้เกิดขึ้นแล้วในทางกฎหมายของประเทศอังกฤษให้การยอมรับเทปบันทึกเสียงทางโทรศัพท์เป็นพยานหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีได้ซึ่งมีลักษณะสาระสำคัญเทียบเคียงได้กับหนังสือกรมธรรม์ประกันภัยตามกฎหมายไทย แต่กฎหมายอังกฤษยอมรับการบันทึกเทปในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่ไม่ต้องมีลายมือชื่อของคู่สัญญา ส่วนการเปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพและการตอบคำถามสุขภาพ ตามกฎหมายไทยถือว่าการแถลงข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันในขณะทำสัญญา ส่วนประเทศอังกฤษนั้นถือว่า เป็นการที่ผู้รับประกันยินยอมสละประโยชน์ของตน ทั้งที่การโฆษณาเช่นนี้ทำให้ผู้เอาประกันเข้าใจผิดและ ถือว่าการที่ผู้รับประกัน ไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้รับประกันไม่ได้ใช้ความระมัดระวังดังที่วิญญูชนคนทั่วไปย่อมคาดหมายได้ว่าคนชราย่อมต้องเจ็บป่วย จึงต้องถือว่าสัญญาประกันชีวิตสมบูรณ์ ไม่สามารถใช้สิทธิบอกล้างโมฆียกรรมได้ และการโฆษณาในลักษณะดังกล่าวของผู้รับประกันไม่ถือว่าเป็นการฉ้อโกงเพราะเป็นการให้คำรับรองในอนาคตไม่ใช่การปกปิดข้อเท็จจริงหรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จได้ แต่การไม่บอกข้อยกเว้นการให้ความคุ้มครองของสัญญาประกันชีวิตนั้น เป็นการทำกลฉ้อฉลด้วยการนิ่ง  ในการฟ้องร้องบังคับคดีกฎหมายของประเทศอังกฤษยอมรับฟังเทปบันทึกเสียงทางโทรศัพท์เป็นพยานหลักฐานได้  ตัวผู้เอาประกันก็สามารถที่จะอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ข้อเท็จจริงและขอให้ศาลออกหมายเรียกเทปบันทึกเสียงที่อยู่ในความครอบครองของผู้รับประกันเข้ามาในคดีเพื่อที่จะเอามาเป็นพยานหลักฐานเป็นประโยชน์ต่อผู้เอาประกันได้ จึงทำให้ผู้เอาประกันได้รับการเยียวยาความเสียหายและไม่มีปัญหาเกี่ยวกับหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดี ก็สามารถต่อสู้คดีและได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม 

      จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น จึงควรมีการแก้ไขกฎหมายของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการรับฟังพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสัญญาและหลักฐานการชำระเงินในการทำสัญญาประกันชีวิตทางโทรศัพท์ได้เป็นอย่างมาก นอกจากนั้นคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์ พ.ศ. 2552 ให้สามารถใช้บังคับให้เหมาะสมด้วย โดยควรกำหนดให้มีการกำหนดเงื่อนไขของผู้รับประกันว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพหรือไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพนั้น ไม่สามารถอ้างเหตุเกี่ยวกับสุขภาพของผู้เอาประกันมาเป็นเหตุในการปฏิเสธการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้

 

Keywords


ประกันชีวิต, ประกันชีวิตทางโทรศัพท์, พยานอิเล็กทรอนิกส์, การตอบคำถามสุขภาพ

Full Text:

Untitled

References


จำรัส เขมะจารุ. (2530). คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะประกันภัย. กรุงเทพฯ: ยงผลเทรดดิ้ง.

ไชยยศ เหมะรัชตะ. (2534). กฎหมายว่าด้วยประกันภัย. กรุงเทพฯ: บรรณาการ.

ดาราพร ถิระวัฒน์. (2542). กฎหมายสัญญาสถานะใหม่ของสัญญาในปัจจุบันและปัญหาข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ประเสริฐ ประภาสะโนบล. (2539). หลักการประกันภัย (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.

ศนันท์กรณ์ (จำปี) โสตถิพันธุ์. (2551). คำอธิบายนิติกรรมสัญญา (พิมพ์ครั้งที่ 13). กรุงเทพฯ: วิญญูชน.

Distance Selling Directive 97/7/EC of European Parliament and of the council. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 1, 2556, จาก www.eur-lex.europa.eu/lexuriserv.dourui.


Refbacks

  • There are currently no refbacks.


ยินดีรับบทความวิชาการทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในวารสารใดมาก่อน กองบรรณาธิการขอสงวนสิทธิ์ในการแก้ไขต้นฉบับและการพิจารณาตีพิมพ์ตามลำดับก่อนหลัง