ผลของการใช้เครื่องสั่นสะเทือนที่เท้าต่อระดับการฟื้นสภาพร่างกายภายหลังเดินออกกำลังกาย

สมคิด สีหาโคตร, พยงค์ วณิเกียรติ, กิตธิณัฐ แก้วกูล, จิราวัฒน์ ปรัตถกรกุล, รัฐปราชญ์ รัตนะ, ณชพล ศุทธิพงศกร

Abstract


การเดินออกกำลังกายเป็นกิจกรรมเพื่อสุขภาพที่นิยมในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การเดินออกกำลังกายที่หนักหรือนานเกินอาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนล้า รวมถึงเอ็นและกล้ามเนื้อบาดเจ็บได้ งานวิจัยกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้เครื่องสั่นสะเทือนที่เท้าซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์เชิงพาณิชย์ต่อระดับความรู้สึกฟื้นสภาพร่างกายจากความเหนื่อยล้าภายหลังเดินออกกำลังกาย อาสาสมัครเข้าร่วมงานวิจัยมีอายุ 18-25 ปี จำนวน 42 คน แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง อาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่ม เดินออกกำลังกายบนลู่กล นาน 20 นาที โดยเดินอบอุ่นร่างกายด้วยความเร็ว 3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นาน 5 นาที และตามด้วย เดินออกกำลังกายด้วยความเร็ว 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นาน 15 นาที หลังจากนั้น ทั้งอาสาสมัครกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองนั่งพักเพื่อฟื้นสภาพร่างกายนาน 15 นาที โดยอาสาสมัครกลุ่มควบคุมนั่งพักบนเก้าอี้ ส่วนอาสาสมัครกลุ่มทดลองนั่งวางเท้าบนเครื่องสั่นสะเทือนที่เท้า ขณะนั่งพัก วัดอัตราการเต้นของหัวใจด้วยเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจและประเมินความรู้สึกฟื้นสภาพร่างกายด้วยแบบประเมิน Perceived Recovery Status (PRS) Scale ของอาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่ม ที่นาทีที่ 5, 10 และ 15 ผลการศึกษาพบว่าขณะนั่งพักที่นาทีที่ 5, 10 และ 15 อัตราการเต้นของหัวใจและค่าความรู้สึกฟื้นสภาพร่างกายของอาสาสมัครภายในกลุ่มเดียวกันมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) อย่างไรก็ตาม อัตราการเต้นของหัวใจและค่าความรู้สึกฟื้นสภาพร่างกายของอาสาสมัครระหว่างกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากการศึกษานี้ แม้ว่าค่าความรู้สึกฟื้นสภาพร่างกายของอาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่ม ไม่แตกต่างกัน แต่หากเพิ่มระดับความหนักของการเดินออกกำลังกายอาจทำให้เห็นค่าการฟื้นสภาพร่างกายของอาสาสมัครระหว่างกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองได้ชัดเจนขึ้น

Full Text:

Untitled

Refbacks

  • There are currently no refbacks.