รูปแบบการแตกหักแบบแข็งเปราะแช่แข็งของพอลิออกซิเมททิลีนที่ถูกปรับปรุงพื้นผิวด้วยสารคู่ควบ ชนิดต่าง ๆ ยึดกับพอลิเมททิลเมทาคริเลต
Abstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบพื้นผิวบริเวณรอยต่อหลังแตกหักแบบแข็งเปราะแช่แข็ง หลังการปรับปรุงพื้นผิวพอลิออกซิเมททิลีนด้วยสารคู่ควบชนิดต่างๆและยึดกับพอลิเมททิลเมทาคริเลต เพื่อดูผลของสารคู่ควบในการยึดติดของวัสดุ โดยนำชิ้นพอลิออกซิเมททิลีนขนาด กว้าง 5 มิลลิเมตร ยาว 15 มิลลิเมตร หนา 1 มิลลิเมตร จำนวน 10 ชิ้น ทำการปรับปรุงพื้นผิวด้วยสารคู่ควบทรี-เมทาอะคริลอกซิโพรพริลไทรเมททอกซิไซเลน (เอ็มพีเอส) ทรี-อะมิโน-โพรพริลไทรเอททอกซิไซเลน (เอพีเอส) เอ็น-ทูอะมิโนเอททิล ทรี-อะมิโนโพรพริลไทนเมททอกซิไซเลน (เอเอพีเอ็มเอส) และเคลียร์ฟิลเซรามิกไพรเมอร์พลัสซึ่งเป็นเอ็มพีเอส ในรูปแบบขวดสำเร็จ (ซีซีพี) หลังจากนั้นเชื่อมด้วยพอลิเมททิลเมทาคริเลตชนิดบ่มด้วยตัวเอง นำไปแช่ไนโตรเจนเหลวและทำการหักกึ่งกลาง และนำชิ้นงานขนาด กว้าง 10 มิลลิเมตร ยาว 10 มิลลิเมตร หนา 2 มิลลิเมตร จำนวน 5 ชิ้น ที่ยึดลงบนท่อทรงกระบอกด้วยอิพ็อกซิเรซิน ปรับปรุงพื้นผิวและทำการยึดกับพอลิเมททิลเมทาคริเลตชนิดบ่มด้วยตัวเองภายใต้แม่พิมพ์ทรงกระบอกด้วยวิธีเดียวกับชิ้นงานแรก นำไปทำให้ทั้งสองวัสดุหลุดออกจากกันด้วยแรงเฉือน จากนั้นนำชิ้นงานทั้งหมดไปเคลือบทองและส่องดูพื้นผิวด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็คตรอนชนิดส่องกราดโดยตั้งฉากกับรอยต่อที่เกิดการหักแบบแข็งเปราะแช่แข็ง และที่พื้นผิวของทั้งสองวัสดุหลังจากการหักด้วยแรงเฉือน พบว่าที่บริเวณรอยต่อของพอลิออกซิเมททิลีนที่ทาสารคู่ควบ เอ็มพีเอส ซีซีพี และกลุ่มควบคุมปรากฎแท่งเรซินของพอลิเมททิลเมทา-คริเลตเข้าไปในเนื้อของพอลิออกซิเมททิลีนอย่างแนบสนิท โดยกลุ่มเอ็มพีเอสและซีซีพี มีความขรุขระของพื้นผิวพอลิเมททิลเมทาคริเลตมากกว่า ในขณะที่กลุ่มเอพีเอสและเอเอพีเอ็มเอส มีช่องว่างระหว่างวัสดุและไม่มีส่วนของพอลิเมททิลเมทาคริเลตที่ยื่นเข้าไปในพอลิออกซิเมททิลีน
Full Text:
UntitledRefbacks
- There are currently no refbacks.