ความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวไทยต่อส่วนประสมการตลาดพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Abstract
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวไทยต่อส่วนประสมการตลาดพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยนำแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับความต้องการ แนวคิดการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค และทฤษฎีส่วนประสมการตลาดบริการ มาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการศึกษา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เข้าชมพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา จำนวน 400 ตัวอย่าง โดยเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามและเลือกตัวอย่างแบบสุ่มตามความสะดวก (Convenience Sampling) สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ และค่าเฉลี่ย ผลการศึกษาพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุ 21–30 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรี อาชีพนักเรียน/นักศึกษา ระดับรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 15,000 บาท มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัด (นอกเหนือจังหวัดเชียงใหม่) วัตถุประสงค์หลักในการเข้าชมพิพิธภัณฑ์คือชมสถาปัตยกรรมเรือนโบราณล้านนา เคยเข้าชมพิพิธภัณฑ์แล้ว 1 ครั้ง โดยเข้าชมในวันจันทร์-ศุกร์ ระยะเวลาในการเข้าชมประมาณ 1 ชั่วโมง ผู้แนะนำ/ชักชวน/มีอิทธิพลในการตัดสินใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์คือตัดสินใจด้วยตนเอง พาหนะในการเดินทางมายังพิพิธภัณฑ์คือรถยนต์ส่วนตัว และรู้จักหรือสืบคืนข้อมูลพิพิธภัณฑ์โดยการสอบถามบุคคลอื่น ด้านส่วนประสมการตลาด พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมีความต้องการส่วนประสมการตลาดโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ปัจจัยรายด้านที่มีผลในการเข้าชมในระดับมากที่สุด เรียงลำดับคือ ด้านบุคลากร ด้านกระบวนการให้บริการ และด้านการนำเสนอลักษณะทางกายภาพ ปัจจัยรายด้านที่มีผลในการเข้าชมในระดับมาก เรียงลำดับคือ ด้านผลิตภัณฑ์ ด้านราคา ด้านการส่งเสริมการตลาด และด้านช่องทางการจัดจำหน่าย ปัจจัยย่อยด้านผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการมากที่สุดคือ ความสวยงามของเรือนโบราณและยุ้งข้าวล้านนา ปัจจัยย่อยด้านราคาที่มีความต้องการมากที่สุดคือ ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์สำหรับนักเรียน/นักศึกษาคนละ 10 บาท ปัจจัยย่อยด้านช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีความต้องการมากที่สุดคือ วันที่เปิดให้บริการเข้าชมพิพิธภัณฑ์คือวันจันทร์-อาทิตย์ ปัจจัยย่อยด้านการส่งเสริมการตลาดที่มีความต้องการมากที่สุดคือ การพัฒนาเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและกิจกรรมส่งเสริมการตลาดได้ง่าย ปัจจัยย่อยด้านบุคลากรที่มีความต้องการมากที่สุดคือ เจ้าหน้าที่แต่งกายสุภาพและเหมาะสม ปัจจัยย่อยด้านกระบวนการให้บริการที่มีความต้องการมากที่สุดคือ การให้บริการมีความสะดวกสบาย และปัจจัยย่อยด้านการนำเสนอลักษณะทางกายที่มีความต้องการมากที่สุดคือ บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์มีความสวยงาม สงบ ร่มรื่นและมีระเบียบ
Full Text:
UntitledRefbacks
- There are currently no refbacks.