ผลการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มตามทฤษฎีเผชิญความจริงต่ออัตลักษณ์แห่งตนของเยาวชนที่กระทำความผิดในศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดร้อยเอ็ด
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มตามทฤษฎีเผชิญความจริงต่ออัตลักษณ์แห่งตนของเยาวชนที่กระทำความผิดในศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดร้อยเอ็ด โดย (1) เปรียบเทียบอัตลักษณ์แห่งตนของเยาวชนที่กระทำความผิด ก่อนและหลังการเข้าร่วมการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มตามทฤษฎีเผชิญความจริงและ (2) เปรียบเทียบอัตลักษณ์แห่งตนของเยาวชนที่กระทำความผิดระหว่างผู้ที่ได้เข้าร่วมการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มตามทฤษฎีเผชิญความจริงและไม่ได้เข้าร่วมการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มตามทฤษฎีเผชิญความจริง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ เยาวชนที่กระทำความผิดที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้และได้คะแนนอัตลักษณ์แห่งตนระดับต่ำ ใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 16 คน แล้วสุ่มตัวอย่างแบบง่ายอีกครั้ง เพื่อแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มทดลอง 8 คน และกลุ่มควบคุม 8 คน โดยกลุ่มทดลองได้เข้าร่วมการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มตามทฤษฎีเผชิญความจริง ส่วนกลุ่มควบคุมไม่ได้เข้าร่วมการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มตามทฤษฎีเผชิญความจริง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบวัดอัตลักษณ์แห่งตนและโปรแกรมการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มตามทฤษฎีเผชิญความจริง การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงกึ่งทดลอง (Quasi-Experimental Research) แบบวัดก่อนและหลังการทดลอง (Pretest – Posttest control group design) แล้วนำคะแนนที่ได้มาวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติ Wilcoxon Signed – Rank Test และ Mann – Whitney U test
ผลการวิจัยปรากฏดังนี้ (1) เยาวชนกลุ่มทดลองที่เข้าร่วมการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มตามทฤษฎีเผชิญความจริงมีอัตลักษณ์แห่งตนสูงกว่าก่อนเข้าร่วมการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มตามทฤษฎีเผชิญความจริงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ (2) เยาวชนกลุ่มทดลองที่เข้าร่วมการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มตามทฤษฎีเผชิญความจริงมีอัตลักษณ์แห่งตนสูงกว่าเยาวชนกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05Full Text:
UntitledRefbacks
- There are currently no refbacks.