เชื้อเพลิงอัดแท่งร่วมจากระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน; กรณีศึกษาโรงบำบัดน้ำเสียชุมชนแห่งหนึ่ง ในเมืองพัทยา

อังศุมน สังขพันธ์, ทิพบุษฏ์ เอกแสงศรี

Abstract


จากการศึกษากากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนนั่นพบว่าเข้าข่ายในกลุ่มที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่ง ซึ่งสอดคล้องกับโครงการส่งเสริมการใช้ประโยชน์กากอุตสาหกรรมและลดปริมาณกากที่ต้องฝังกลบ และคู่มือแนวทางและเกณฑ์คุณสมบัติของเสียเพื่อการแปรรูปเป็นแท่งเชื้อเพลิงและบล็อกประสาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาศักยภาพกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนแห่งหนึ่งในเมืองพัทยา เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงอัดแท่ง ทั้งนี้ได้นำกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนที่ได้ลดความชื้นแล้วด้วยเครื่องรีดตะกอน โดยทำการเก็บตัวอย่างกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนไปทำการศึกษาองค์ประกอบพื้นฐานและคุณสมบัติทางเชื้อเพลิงด้วยวิธี
ตามมาตรฐาน ASTM รวมทั้งทำการขึ้นรูปเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งด้วยกระบวนการอัดเย็นอ้างอิงคู่มือแนวทางและเกณฑ์คุณสมบัติของเสียเพื่อการแปรรูปเป็นแท่งเชื้อเพลิงและบล็อกประสาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจากการวิจัยพบว่า กากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนมีค่ากำมะถันที่น้อยมาก ซึ่งตรงกับคุณสมบัติของเสียที่สามารถนำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงได้ และเนื่องจากกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียยังมีค่าความชื้นที่สูงเฉลี่ยคือ 62.76 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก ทำให้ได้ค่าความร้อนที่ต่ำกว่า 3,000 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม ซึ่งไม่
เพียงพอต่อการนำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง ผู้วิจัยจึงได้นำวัสดุเหลือใช้ชีวมวล คือ ผงถ่าน มาผสมกับกากตะกอน เพื่อศึกษาเป็นเชื้อเพลิงร่วมในการเพิ่มค่าความร้อนของเชื้อเพลิงอัดแท่งในอัตราส่วนตั้งแต่ร้อยละ 10 จนถึงร้อยละ 90 โดยน้ำหนัก โดยเมื่อมีการผสมผงถ่านทำให้เพิ่มค่าความร้อนของเชื้อเพลิงอัดแท่งตรงตามเกณฑ์คุณสมบัติค่าความร้อนที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดไว้ ผลจากงานวิจัยนี้สรุปได้ว่ากากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนที่นำมาศึกษามีศักยภาพสามารถนำมาพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งเพื่อเป็นการลดปริมาณ
ของเสียที่ส่งไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบและยังเป็นการเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานทดแทนภายในประเทศอีกด้วย


Full Text:

Untitled

Refbacks

  • There are currently no refbacks.