ผลของการติดเชื้อ Nosema ceranae ต่อสัดส่วนจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารของผึ้งโพรง

สุภาวดี ชมภูพันธ์, สุดารัตน์ ตรีเพชรกุล, มนัญญา เพียรเจริญ, ธัญญารัตน์ คงขุนเทียน

Abstract


ผึ้งเป็นแมลงเศรษฐกิจสำคัญที่ให้ผลิตภัณฑ์ผึ้งหลายชนิดสร้างรายได้ให้กับประเทศ หากผึ้งมีสภาพรังที่ไม่แข็งแรงจะทำให้ผลผลิตลดลง หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผึ้งอ่อนแอคือโรคโนซีมา ที่เกิดจากการติดเชื้อ Nosema ceranae เชื้อชนิดนี้จะทำลายระบบทางเดินอาหารของผึ้งส่งผลให้ผึ้งตายยกรังได้ ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ในระบบทางเดินอาหารของผึ้งมีจุลินทรีย์เชิงบวกซึ่งมีบทบาทในการป้องกันโรค ดังนั้นจึงศึกษาผลของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารของผึ้งโพรงต่อการติดเชื้อ N. ceranae จากการศึกษาความสัมพันธ์ของ
ความหลากหลายและการเปลี่ยนแปลงปริมาณของจุลินทรีย์ระดับสกุลในทางเดินอาหารของผึ้งโพรงที่ไม่ได้รับเชื้อ (กลุ่มควบคุม; n=50 ตัว) และได้รับเชื้อ N. ceranae (กลุ่มทดลอง; n =50 ตัว) ที่มีอายุ 3 6 10 และ 14 วัน โดยนำทางเดินอาหารของผึ้งแต่ละช่วงอายุกลุ่มการทดลองละ 3 ตัว มาทำการศึกษาจำนวนจุลินทรีย์ที่เจริญบนอาหารเลี้ยงเชื้อ 4 ชนิด ได้แก่ MRS, SDA, PDA และ ¼ x BCA ทำการตรวจนับจำนวนและบันทึกลักษณะโคโลนี จากการทดลองจำนวน 2 รัง โดยใช้ผึ้งที่มาจากแหล่งเลี้ยงใน จ.ชุมพร และเคลื่อนย้ายมาทำการ
เลี้ยงในพื้นที่ทดลอง ในรังที่ 1 ผึ้งที่ใช้เป็นผึ้งที่ผ่านการเลี้ยงในพื้นที่ทดลองเป็นเวลา 3 สัปดาห์ แต่ในรังที่ 2 ผ่านการเลี้ยง 1 สัปดาห์ก่อนทำการทำการทดลอง ผึ้งกลุ่มควบคุมรังที่ 1 มีอัตราการตาย 26.83% และซ้ำที่ 2 9.76% ที่ระยะเวลา 10 วัน ผลการเปรียบเทียบจำนวนและลักษณะโคโลนีจุลินทรีย์พบว่า N. ceranae มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของปริมาณและกลุ่มของจุลินทรีย์ โดยในกลุ่มทดลองจะมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของปริมาณจุลินทรีย์สูงกว่ากลุ่มควบคุม และจุลินทรีย์ที่เจริญบนอาหาร MRS มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของปริมาณมากที่สุด การเปลี่ยนแปลงบนอาหารเลี้ยงเชื้อทั้ง 4 ชนิด ในกลุ่มควบคุมทั้งสองรังพบจุลินทรีย์ที่เจริญบนอาหาร MRS มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนมากขึ้นเมื่อผึ้งมีอายุมากขึ้น BCA SDA และ PDA ในขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนลดลง ในกลุ่มทดลองพบการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนที่ไม่สม่ำเสมอโดยการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารที่เลี้ยงได้บนอาหารเลี้ยงเชื้อ 4 ชนิด ในรังที่ 1 มีมากกว่ารังที่ 2 สอดคล้องกับอัตราการตายของผึ้งในกลุ่มควบคุมที่ในรังที่ 1 มากกว่ารังที่ 2 ผลการทดลองชี้ให้เห็นว่าแม้จะเป็นผึ้งที่มาจากแหล่งเดียวกันเมื่อนำมาเลี้ยงในพื้นที่ต่างกันในช่วงก่อนเริ่มการทดลองส่งผลทำให้ผึ้งได้สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันก่อนนำมาทดลองในระยะเวลาสั้นๆ สามารถส่งผลให้จุลินทรีย์ในทางเดินอาหารตั้งต้นก่อนการทดลองต่างกันและอาจส่งผลต่อสุขภาพผึ้งในการทดลอง


Full Text:

Untitled

Refbacks

  • There are currently no refbacks.