แนวทางการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 3
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัญหา และหาแนวทางการบริหารงานวิชาการของ
โรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 3 วิธีดำเนินการมี 2ขั้นตอน คือ 1) ศึกษาปัญหาการบริหารงานวิชาการที่เกิดขึ้นในโรงเรียนขนาดเล็ก กลุ่มตัวอย่างได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน และครู จำนวน 274 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับมีค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.98 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ 2) หาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนขนาดเล็ก โดยการจัดประชุมสนทนากลุ่ม ใช้การวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า ปัญหาในการบริหารงานวิชาการโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง โดย ด้านที่
เป็นปัญหาสูงสุด คือ ด้านการจัดการเรียนการสอน ส่วนต่ำสุด คือ ด้านการนิเทศการเรียนการสอน ส่วนแนวทางการบริหารงานวิชาการเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น มีดังนี้ 1) ด้านการบริหารงานหลักสูตร คือ สถานศึกษาส่งเสริมให้ครู ผู้ปกครอง และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการปรับปรุงพัฒนางานหลักสูตร 2) ด้านการจัดการเรียนการสอน คือ สถานศึกษาส่งเสริมให้ครูและนักเรียนร่วมกันศึกษา วิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุของผลการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับความสนใจ ฝึกการคิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง และปลูกฝังค่านิยมที่พึงประสงค์ 3) ด้านการพัฒนาสื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยี คือ สถานศึกษาส่งเสริมให้ครูจัดแสดงผลงาน และมีการประเมินผลการเลือกใช้ เทคโนโลยี สื่อ และวัสดุอุปกรณ์ เพื่อพัฒนาปรับปรุง และเผยแพร่ 4) ด้านการนิเทศการเรียนการสอน คือ สถานศึกษาสร้างความตระหนักให้ครูเห็นความสำคัญในการนิเทศการเรียนการสอนแบบมีส่วนร่วม ผู้บริหารมีการกำกับ ติดตาม ดูแลการจัดการเรียนรู้ให้เป็นไปตามแผนการนิเทศการเรียนการสอนของสถานศึกษา 5) ด้านการวัดผลและประเมินผล คือ สถานศึกษาจัดประชุมครูเพื่อให้ความรู้ ร่วมกันวิเคราะห์ผลการเรียนของนักเรียนเพื่อหาแนวทางแก้ไขช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคล และมีการประเมินผลตามสภาพจริง และ6) ด้านการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา คือ สถานศึกษาแต่งตั้งคณะกรรมการที่รับผิดชอบ จัดทำแผนปฏิบัติการกำหนดโครงการกิจกรรมต่างๆ ให้พิจารณาวิเคราะห์เป้าหมายหรือผลผลิตของโครงการต่างๆ ที่มีความสอดคล้องกับมาตรฐาน/ตัวบ่งชี้ และมีการประเมินปรับปรุง พัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา
Full Text:
UntitledRefbacks
- There are currently no refbacks.