การวิจัยและพัฒนาบทเรียนท้องถิ่นนาฏศิลป์พื้นบ้าน เรื่องประเพณีผาสาดลอยเคราะห์ โดยใช้กระบวนการทางนาฏยประดิษฐ์
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1)เพื่อพัฒนาบทเรียนท้องถิ่นนาฏศิลป์พื้นบ้านเรื่องประเพณีผาสาดลอยเคราะห์ สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่6 2)เพื่อหาประสิทธิภาพของบทเรียนท้องถิ่นนาฏศิลป์พื้นบ้านเรื่องประเพณีผาสาดลอยเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่6 3)เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยใช้บทเรียนท้องถิ่นนาฏศิลป์พื้นบ้านเรื่องประเพณีผาสาดลอยเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก่อนเรียนและหลังเรียน กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านเชียงคาน “ปทุมมาสงเคราะห์” อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย จำนวน 40 คน ใช้วิธีการศึกษาวิเคราะห์ เอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ใช้แบบสัมภาษณ์ แบบทดสอบ การหาคุณภาพและรับรองบทเรียนท้องถิ่นโดยผู้เชี่ยวชาญ และการทดลองใช้บทเรียนท้องถิ่น การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธีวิเคราะห์เนื้อหา การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t-test dependent)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ประเพณีผาสาดลอยเคราะห์เป็นประเพณีที่เก่าแก่ของชาวเชียงคาน ซึ่งเดิมเรียกว่า “การเสียเคราะห์”นิยมทำกันในเทศกาลออกพรรษา เป็นพิธีสะเดาะเคราะห์ตามความเชื่อท้องถิ่นแบบดั้งเดิม ผสมผสานกับความเชื่อตามฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ ในการประดิษฐ์ชุดฟ้อนผาสาดลอยเคราะห์ เป็นการแสดงที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อนำเสนอเรื่องราวในพิธีกรรมของการทำพิธีผาสาดลอยเคราะห์ ด้วยกระทงผาสาด ในรูปแบบของบทเรียนท้องถิ่น เพื่อใช้เป็นสื่อประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ สาระนาฏศิลป์ ชั้นประถมศึกษาปีที่6
2. บทเรียนท้องถิ่น ที่พัฒนาขึ้น ประกอบไปด้วย หน่วยการเรียนรู้ 3 หน่วย ได้แก่ หน่วยการเรียนรู้ที่1 เรื่องประเพณีผาสาดลอยเคราะห์ หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 เรื่ององค์ประกอบการแสดง และหน่วยการเรียนรู้ที่ 3 เรื่องฟ้อนผาสาดลอยเคราะห์ ประสิทธิภาพของบทเรียนท้องถิ่นนาฏศิลป์พื้นบ้าน เรื่องประเพณีผาสาดลอยเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่พัฒนาขึ้น มีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ88.53/81.20 มีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.74
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สรุปได้ว่าผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจากการเรียนบทเรียนท้องถิ่นนาฏศิลป์พื้นบ้านเรื่องประเพณีผาสาดลอยเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
Full Text:
UntitledRefbacks
- There are currently no refbacks.