ประสิทธิผลของการเคลือบหลุมและร่องฟัน ในโรงเรียนชั้นประถมศึกษาแห่งหนึ่ง สังกัดสำนักงานเขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร

รุ่งนภา วรรณะศิริสุข

Abstract


              การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (1) ประสิทธิผลของการเคลือบหลุมและร่องฟัน จากผลการยึดติดของสารเคลือบหลุมร่องฟันและการเกิดฟันผุภายหลังการเคลือบหลุมร่องฟันเมื่อระยะเวลา 1 ปีและ 2 ปี (2) ปัจจัยส่วนบุคคล พฤติกรรมการบริโภคอาหารระหว่างมื้อ และพฤติกรรมการทำความสะอาดในช่องปาก (3) ความสัมพันธ์ระหว่างการยึดติดของสารเคลือบหลุมร่องฟันกับระยะเวลาการเคลือบหลุมร่องฟัน (4) ความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาการยึดติดของสารเคลือบหลุมร่องฟันกับการเกิดฟันผุและ (5) ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล  พฤติกรรมการบริโภคอาหารระหว่างมื้อ และพฤติกรรมการทำความสะอาดในช่องปากกับการเกิดฟันผุ ในโรงเรียนชั้นประถมศึกษาแห่งหนึ่ง สังกัดสำนักงานเขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร

              ประชากรที่ศึกษา เลือกแบบเฉพาะเจาะจง ในนักเรียนชั้นประถมศึกษา โรงเรียนชั้นประถมศึกษาแห่งหนึ่ง สังกัดสำนักงานเขตวัฒนา กรุงเทพมหานครที่ได้รับการเคลือบหลุมร่องฟัน ในหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่โดยทันตาภิบาล จำนวน 88 คน มีจำนวนฟัน 267 ซี่ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบติดตามผลการยึดติดของสารเคลือบหลุมร่องฟันและแบบสัมภาษณ์

              ผลการวิจัยพบว่า (1) ผลการยึดติดของสารเคลือบหลุมร่องฟันเมื่อระยะเวลา 1 ปี คงอยู่สมบูรณ์ร้อยละ 92.1 ระยะเวลา 2 ปีคงอยู่สมบูรณ์ร้อยละ 71.2 ของฟันที่เคลือบ และการเกิดฟันผุภายหลังการเคลือบหลุมร่องฟันเมื่อระยะเวลา 1 ปี ร้อยละ 4.2 ระยะเวลา 2 ปี ร้อยละ 10.1 (2) ปัจจัยส่วนบุคคลส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ58.0  พฤติกรรมการบริโภคอาหารระหว่างมื้ออยู่ในระดับปานกลาง พฤติกรรมการทำความสะอาดในช่องปากส่วนใหญ่อยู่ในระดับไม่เหมาะสม (3) การยึดติดของสารเคลือบหลุมร่องฟันมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาการเคลือบหลุมร่องฟัน (4) การยึดติดของสารเคลือบหลุมร่องฟันเมื่อระยะเวลา 2 ปีมีความสัมพันธ์กับการเกิดฟันผุ และ (5) ปัจจัยส่วนบุคคลได้แก่ อาชีพของผู้ปกครองหรือบุคคลที่ดูแลนักเรียน และเงินซื้อขนม /เครื่องดื่มต่อวัน มีความสัมพันธ์กับการเกิดฟันผุ ข้อเสนอแนะจากการวิจัย ควรมีการติดตามผลการยึดติดของสารเคลือบหลุมร่องฟันในระยะยาว และส่งเสริมการจัดกิจกรรมโครงการด้านทันตสุขภาพและการป้องกันโรคช่องปากในโรงเรียนโดยกระตุ้นให้ครู  ผู้ปกครอง และอาสาสมัครสาธารณสุขในโรงเรียน เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลพฤติกรรมทันตสุขภาพของนักเรียน

คำสำคัญ การเคลือบหลุมและร่องฟัน, ฟันผุ, นักเรียนชั้นประถมศึกษา


Full Text:

Untitled

Refbacks

  • There are currently no refbacks.