สุคนธบำบัดตำรับวังสวนสุนันทา

วรรณี พรมด้าว

Abstract


การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความรู้ในการดูแลรักษาสุขภาพด้วยสุคนธบำบัดในวังสวนสุนันทา และเพื่อนำสุคนธบำบัดตำรับวังสวนสุนันทา มาประยุกต์ใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพตามหลักทฤษฎีการแพทย์แผนไทย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย ผู้สืบทอดสายสกุลจากวังสวนสุนันทา และผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องหอม นํ้าอบ นํ้าปรุง จำนวน 5 ราย โดยใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ (Qualitative research) โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In – depth interview)
ผลการวิจัยพบว่า การดูแลรักษาสุขภาพด้วยสุคนธบำบัด เริ่มในสมัยพระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีแนวคิดสอดคล้องกับพระราชดำริให้พระยาสุขุมนัยวินิจขยายพระราชวังดุสิตและได้ทรงจัดการออกแบบสร้างสวนสุนันทาให้เป็นที่ประทับพักร้อน ซึ่งมีบรรยากาศเป็นอุทยานสวนป่า ที่ปกคลุมด้วยกลิ่นอายธรรมชาติของพรรณไม้นานาชนิด และการประยุกต์ใช้สุคนธบำบัดได้ปรากฎเด่นชัดมากขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475ด้วยการที่เจ้านายฝ่ายในแต่ละตำหนักในวังสวนสุนันทา ได้ถ่ายทอดวิธีการทำและประสบการณ์ด้านสุคนธบำบัดให้กับสตรีชาววัง ซึ่งความรู้หลักประกอบด้วยศิลปะเครื่องหอมของเจ้าจอมมารดาเหม ที่มีชื่อเสียงในการทำ “นํ้าอบสารภี” และเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์ สดับ ที่มีชื่อเสียงในการทำ “นํ้าอบปรุงจรุงรส”
และ “ยาดมส้มโอมือ” เมื่อนำศาสตร์สุคนธบำบัดทั้ง 3 อย่าง มาศึกษาประยุกต์ใช้กับศาสตร์การแพทย์แผนไทย พบว่า สมุนไพรที่ใช้ในตำรับ ได้แก่ มะลิ ชะลูด พิกุล จำปี จำปา กระดังงา และสารภี ซึ่งมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาด้านนํ้ามันหอมระเหย ที่สามารถส่งสริมสุขภาพและรักษา อาการอ่อนเพลีย วิงเวียน และปวดศีรษะได้ซึ่งสอดคล้องกับหลักทฤษฎีการแพทย์แผนไทยที่บ่งบอกว่าธาตุลมพิการ ธาตุทั้ง 4 เสียสมดุลไป


Keywords


สุคนธบำบัด; สวนสุนันทา; แพทย์แผนไทย

Full Text:

PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.