ความพึงพอใจของผู้เข้ารักษาโรคลมปลายปัตคาตสัญญาณ 4 และ 5 หลัง ด้วยการสักยา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเตรียม อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา

ภัทรภรณ์ พรหมแก้ว, ศุภะลักษณ์ ฟักคำ, สุชาติ เลาบริพัตร, ธนวรรธน์ อิ่มสมบูรณ์

Abstract


โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเตรียมตั้งอยู่ หมู่ที่ 4 ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ลักษณะภูมิประเทศทิศตะวันตกติดทะเลอันดามันทิศตะวันออกติดเทือกเขานมสาว จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่งให้ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้ และอาชีพประมง จากการประกอบอาชีพ พบว่าลักษณะการทำงานเป็นการทำงานที่ต้องใช้แรงร่วมกับการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อบ่า คอ สะบัก เป็นระยะเวลานาน ซ้ำๆ เช่น การจับมีดกรีดต้นยางพารา การจับจอบหรือเสียม การมาดอวน (การถักซ่อมแซมอวน) การดึงอวนปลาที่มีน้ำหนักมากขึ้นจากทะเล การยกปลาใส่เข่ง เป็นต้น จากการประกอบอาชีพดังกล่าวทำให้ประชาชนมีอาการปวดบ่า คอ สะบักร้าวลงแขน รวมถึงร้าวขึ้นต้นคอ พบว่าในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565) มีผู้ป่วยเข้ารับบริการด้านหัตถเวชกรรมไทย ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมปลายปัตคาตสัญญาณ 4 หลังและโรคลมปลายปัตคาตสัญญาณ 5 หลัง จำนวน 219 คน คิดเป็น ร้อยละ 52.77 ของผู้เข้ารับบริการด้านหัตถเวชกรรมไทย ณ คลินิกแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเตรียมทั้งหมด 415 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 2 กรกฎาคม 2565) ในทางการแพทย์แผนไทยโรคลมปลายปัตคาตสัญญาณ 4 หลังและโรคลมปลายปัตคาตสัญญาณ 5 หลัง เกิดจากการใช้งานมาก สาเหตุการเกิดโรคตามแนวทางการแพทย์แผนไทยเมื่อวิเคราะห์ตามตรีธาตุ พบว่าวาตะกำเริบ ปิตตะกำเริบ มีวิธีการรักษาอาการจากภายนอก เช่น การนวด การกักน้ำมัน การพอกยา การประคบสมุนไพร การแช่น้ำอุ่น การอบสมุนไพร การสักยา เป็นต้น การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยโดยการสังเกตแบบเชิงพรรณา (Observational Descriptive Studies) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความพึงพอใจ ของการสักยาในการรักษาโรคลมปลายปัตคาตสัญญาณ 4 และ 5 หลัง ของผู้มารับบริการในคลินิกแพทย์แผนไทย รพ.สต.เตรียม อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา โดยนำทฤษฎีและคู่มือการสักยาตามหลักการแพทย์พื้นบ้านมาเป็นแนวทางในการศึกษา โดยกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ที่มารับบริการที่คลินิกแพทย์แผนไทย รพ.สต.เตรียม อ.คุระบุรี จ.พังงา ที่ได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์แผนไทยประยุกต์ ว่าเป็นโรคลมปลายปัตคาตสัญญาณ 4 หลังและโรคลมปลายปัตคาตสัญญาณ 5 หลัง มารับการรักษาในเดือน เมษายน – มิถุนายน ปี 2565 (ระยะเวลา 3 เดือน) ใช้วิธีเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยการใช้สูตร ทาโร่ ยามาเน่ (Tao Yamane) ในการคำนวณกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเท่ากับ 142 คน ผลการศึกษาพบว่าผู้ที่เข้ารับการรักษาโรคลมปลายปัตคาตสัญญาณ 4 หลังและโรคลมปลายปัตคาตสัญญาณ 5 หลัง ส่วนใหญ่เป็น เพศหญิง มักเกิดกับคนที่มี 40 ปีขึ้นไป การประกอบอาชีพเกษตรกร อาชีพประมง รับจ้าง รวมถึงอาชีพแม่บ้าน มีความเสี่ยงในการเกิดโรคจากการทำงานเนื่องจากมีลักษณะการทำงานโดยการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเป็นระยะเวลานาน ซ้ำๆ เช่นการจับมีดกรีดยาง การลากอวน การมาดอวน เป็นต้น การวิเคราะห์ความพึงพอใจของผู้เข้ารักษาโรคลมปลายปัตคาตสัญญาณ 4 และ 5 หลัง ด้วยการสักยา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเตรียม อำเภอ คุระบุรี จังหวัดพังงา จำแนกรายด้าน พบว่าผู้เข้ารับบริการมีความพึงพอใจโดยรวมในระดับดีมาก โดยด้านที่ได้รับความพึงพอใจเป็นอันดับแรกคือความพึงพอใจในการรับบริการในแต่ละส่วนงาน รองลงมาได้แก่ด้านความพึงพอใจต่อสิ่งอำนวยความสะดวก/สถานที่และความพึงพอใจด้านคุณภาพให้บริการ ด้านความพึงพอใจต่อเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรที่ให้บริการ และด้านความพึงพอใจต่อกระบวนการ/ขั้นตอนการให้บริการ

Full Text:

Untitled

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


**ไม่สามารถแก้ไขบทความ Proceeding online ทุกกรณี**