การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม เพื่อยกระดับสู่ผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวไทยเชิงสุขภาพ : กรณีศึกษาเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทย

พิมม์ญภัทร สุพรรณพงศ์

Abstract


การศึกษาเรื่อง “การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยท้องถิ่นแบบมี ส่วนร่วมเพื่อยกระดับสู่ผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวไทยเชิงสุขภาพ” มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)ศึกษาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยตามภูมิปัญญาท้องถิ่นในภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทย 2) สร้างสรรค์ กลั่นกรอง และประเมินความคิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยท้องถิ่นสำหรับนักท่องเที่ยว 3) พัฒนาความคิดและทดสอบความคิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยท้องถิ่นสำหรับนักท่องเที่ยว 4) หาแนวทางการสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยท้องถิ่นสำหรับนักท่องเที่ยว และ 5) สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่จากสมุนไพรไทยท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นเครื่องมือเชิงคุณภาพคือ การสนทนากลุ่มกับผู้เกี่ยวข้องทั้ง 6 จังหวัดตามขอบเขตของงานวิจัยประกอบด้วย 1) จังหวัดตาก 2) จังหวัดกาญจนบุรี 3) จังหวัดราชบุรี 4)จังหวัดเพชรบุรี 5) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และ 6) จังหวัดระนอง  โดยกลุ่มสนทนาเชิงลึกที่เกี่ยวข้องประด้วย 1) ผู้ประกอบการสมุนไพรไทยท้องถิ่น 2) ผู้ประกอบการจำหน่ายของฝาก 3) ผู้ประกอบการที่พัก 4) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประจำจังหวัด และ 6) นักท่องเที่ยว รวมทั้งสิ้น 72 คน ส่วนที่ 2 เป็นเครื่องมือเชิงปริมาณ เครื่องมือที่ใช้คือแบบสอบถาม โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง จำนวนทั้งสิ้น 840 คน เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีประสบการณ์ท่องเที่ยวใน 6 จังหวัดตามขอบเขตการวิจัย และร่วมทดสอบสินค้าในบูทวิจัยภายในงานวันธรรมดาน่าเที่ยว จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย วันที่ 11-14 พฤษภาคม 2560 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทำการทดสอบแบ่งเป็นขั้นตอนสร้างสรรค์ความคิด (Idea creation) กลั่นกรองความคิด(Idea Screening) ประเมินความคิด (Evaluation of idea) พัฒนาความคิด (Concept  development) และทดสอบความคิด (Concept Testing) จำนวน 420 คน และขั้นตอนหาแนวทางการสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยท้องถิ่นสำหรับนักท่องเที่ยว จำนวน 420 คน  โดยจัดให้มีสินค้าตัวอย่างเพื่อทำการทดลองใช้ก่อนตอบคำถามในบริเวณบูทที่เก็บข้อมูล ในส่วนของการวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS/FW โดยใช้ค่าสถิติได้แก่ การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ถดถอยเชิงพหุ (Multiple Regression Analysis: MRA) โดยวิธี Stepwise

ผลการศึกษาพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นที่นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มการซื้อมากที่สุดในแต่ละหมวด ทั้ง 4 หมวดประกอบด้วย 1) หมวดเส้นผม ได้แก่ผลิตภัณฑ์เซรั่มอัญชันของวิสาหกิจชุมชนแม่ทองคำ 2) หมวดบำรุงผิว ได้แก่ผลิตภัณฑ์มาร์กหน้าสมุนไพรของวิสาหกิจชุมชนพอดีสมุนไพร 3) หมวดทำความสะอาดร่างกายได้แก่สบู่เหลวมะหาดของของบ้านแก้วกลางสวนสมุนไพร และ 4) หมวดช่วยให้ผ่อนคลายได้แก่บอดี้สเปรย์ของบริษัทสยามวรดา

ข้อเสนอแนะสำคัญเพื่อการพัฒนา 1) สบู่เหลวมะหาดควรพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ดูน่าใช้มากยิ่งขึ้น 2) เซรั่มอัญชันควรมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ดูสมราคา และพัฒนาเรื่องกลิ่นให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น 3) มาร์คหน้าสมุนไพรควรพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยใช้งานง่าย พัฒนาเรื่องกลิ่นให้น่าใช้ และเพิ่มความเหลวเพื่อความสะดวกในการใช้ 4) บอดี้สเปรย์ควรพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ดูทันสมัยน่าซื้อเป็นของฝาก และสัมผัสที่เย็นสบายมากกว่าเดิม

Full Text:

Untitled

Refbacks

  • There are currently no refbacks.


**ไม่สามารถแก้ไขบทความ Proceeding online ทุกกรณี**