ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับกานำเครื่องหมายการค้ามาเป็นหลักประกันในทางธุรกิจ

พนา เลิศเชิดชูพงศ์

Abstract


เครื่องหมายการค้าถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง มีราคาและสามารถทำการซื้อขายได้ การที่ไม่ได้บัญญัติให้ผู้ประกอบการสามารถนำทรัพย์สินประเภทอื่นโดยเฉพาะในกรณีของเครื่องหมายการค้ามาเป็นหลักประกันในทางธุรกิจได้ นอกจากจะเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการนำทรัพย์สินโดยเฉพาะเครื่องหมายการค้ามาขอสินเชื่อ เพื่อนำเงินทุนมาใช้ในการประกอบกิจการของผู้ประกอบการ ประกอบกับปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในระหว่างการร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ...... ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้นำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถจำนำและจำนองได้มาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ โดยผู้ให้หลักประกันไม่ต้องส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับหลักประกันอย่างเช่น จำนำ จำนอง แต่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังมีข้อบกพร่องเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนในเรื่องของการนำเครื่องหมายการค้ามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจว่าทำได้หรือไม่

          จากที่ได้ศึกษาการใช้เครื่องหมายการค้ามาเป็นหลักประกันในทางธุรกิจ จะเห็นได้ว่า แม้ว่าการนำเครื่องหมายการค้ามาเป็นหลักประกันในการชำระหนี้จะอยู่ในนโยบายที่รัฐให้ความสำคัญไว้ก็ตาม แต่หากพิจารณาจากกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันจะพบว่าไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่สามรถนำเครื่องหมายการค้ามาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ ประกอบกับเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับประเทศไทย อีกทั้งยังไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนมารองรับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหลักการความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของทรัพย์สินทางปัญญาแต่ละประเภท รวมทั้งการประเมินมูลค่าของเครื่องหมายการค้า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะมีร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจขึ้น โดยมีหลักการสำคัญที่เปิดช่องให้สามารถนำทรัพย์สินมาเป็นหลักประกันได้โดยไม่ต้องส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน ซึ่งหลักการสำคัญดังกล่าวสามารถนำมาปรับใช้กับการนำเครื่องหมายการค้ามาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ เนื่องจากทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างไม่สามารถส่งมอบการครอบครองได้ แต่การนำร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มาปรับใช้กับทรัพย์สินทางปัญญาก็ยังมีปัญหาอยู่บ้าง ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่าภายใต้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว แม้ว่าจะกำหนดไว้ว่าให้สามารถนำ “ทรัพย์สินอื่น ตามมาตรา 8(5)” มาเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ แต่เมื่อพิจารณาแล้วการที่จะนำเครื่องหมายการค้ามาเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ยังมีความไม่ชัดเจน และยังต้องมีปัญหาในเรื่องของการตีความหากมีการนำเครื่องหมายการค้าไปเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ ด้วยเหตุนี้จึงเห็นสมควรเสนอแนวทางในการนำเครื่องหมายการค้ามาเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ดังนี้ประการแรก เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจไม่มีบัญญัติเฉพาะให้สิทธิในเครื่องหมายการค้าเป็นทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ จึงควรแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เพื่อนำมาปรับใช้กับการนำเครื่องหมายการค้ามาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ ประการที่สอง จัดตั้งองค์กรของรัฐ ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการประเมินเครื่องหมายการค้าแล้ว ยังต้องมีบทบัญญัติบังคับให้สถาบันการเงินใช้เกณฑ์การประเมินราคาหลักประกันจากองค์กรดังกล่าว ประการที่สาม ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาท มีแต่บทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับหลักประกันที่มีขั้นตอนที่รวดเร็วกว่าการบังคับคดี โดยเจ้าพนักงานบังคับคดี หากมีการปรับใช้แนวทางระงับข้อพิพาทดังกล่าวจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งซึ่งถือเป็นทางเลือกหนึ่งของคู่สัญญา ประการที่สี่ ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมการใช้สินเชื่อ ควรจะมีข้อกำหนดในสัญญาหลักประกันให้เจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินสามารถควบคุมการนำเงินกู้ไปใช้ได้


Full Text:

PDF

References


การประมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.ukvaluation.com

กนก อินทรัมพรรย์. (2554). กฎหมายทรัพย์สินและที่ดิน ในประเสริฐ เสียวสุทธิวงค์ (บรรณาธิการ). รวมคำบรรยายสมัยที่ 64 เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักอบรมศึกษากฎหมายเนติบัณฑิตยสภา. (หน้า 255).

ปรีดา ยังสุขสถาพร. (2551). ทรัพย์สินทางปัญญาน่ารู้และวิธีการประเมินมูลค่าทรัพย์.


Refbacks

  • There are currently no refbacks.


ยินดีรับบทความวิชาการทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในวารสารใดมาก่อน กองบรรณาธิการขอสงวนสิทธิ์ในการแก้ไขต้นฉบับและการพิจารณาตีพิมพ์ตามลำดับก่อนหลัง