การตรวจสอบการปฎิบัติหน้าที่ของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติโดยภาคประชาชน : ศึกษาเฉพาะกรณีพฤติการณ์ที่เป็นการเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งอย่างร้ายแรง

ประยุทธิ์ รักจุ้ย

Abstract


วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งศึกษาพิเคราะห์ถึงแนวคิด ทฤษฎีพื้นฐานเกี่ยวกับองค์กรอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และกระบวนการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยเฉพาะมุ่งค้นหาเพื่อให้เกิดความชัดเจนในประเด็นที่เกี่ยวกับพฤติการณ์ที่เป็นการเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งอย่างร้ายแรงของกรรมการป้องกันแลปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตลอดจนศึกษาค้นคว้ากระบวนการ และวิธีการในการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเพื่อการตรวจสอบการใช้อำนาจของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติโดยภาคประชาชน

จากการศึกษาและพิเคราะห์ พบว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไว้ 4 กรณี คือ (1) การตรวจสอบทรัพย์สิน (2) การกระทำที่เป็นการขัดกันของผลประโยชน์ (3) การถอดถอนออกจากตำแหน่ง และ (4) การดำเนินการคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมีประเด็นที่อาจกระทำโดยผ่านองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หนึ่งในองค์กรดังกล่าวที่สำคัญ คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) โดยมีอำนาจหน้าที่หลักในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และข้าราชการระดับสูง รวมไปถึงการเปิดช่องทางให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยผ่านคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ขณะเดียวกัน หากกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ใช้อำนาจตามกฎหมายให้เป็นที่เสียหาย ก็ต้องถูกตรวจสอบได้เช่นเดียวกัน โดยการตรวจสอบจากภาคประชาชนซึ่งเป็นไปตามหลักนิติรัฐ (Etat de droit) ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 248 ได้บัญญัติกลไกและหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบการใช้อำนาจของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ไว้โดยการกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนมีส่วนร่วมในการตรวจสอลการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิ์เขาชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาในกรณีที่เห็นว่ากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ใดกระทำการขาดความเที่ยงธรรม จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือมีพฤติการณ์ที่เป็นการเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งอย่างร้ายแรง เพื่อให้วุฒิสภามีมติให้พ้นจากตำแหน่ง

บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 248 นี้ มีปัญหาในกรณีของค่า พฤติการณ์ที่เป็นการเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งอย่างร้ายแรง โดยพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่าถ้อยคำดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ไม่ชัดเจนว่าการกระทำเช่นไรจะถือเป็นบทบัญญัติที่ไม่ชัดเจนว่าการกระทำเช่นไรจะถือเป็นพฤติการณ์ที่เป็นการเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งอย่างร้ายแรง การแก้ไขปัญหาดังกล่าวอาจกระทำได้โดยการกำหนดคำนิยามไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542

โดยเฉพาะคำว่า พฤติการณ์ที่เป็นการเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งอย่างร้ายแรงนั้น หมายความว่า การกระทำความผิดอาญา การกระทำที่เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ความผิดในทางทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำที่เป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรง

ส่วนหลักเกณฑ์ในกรณีที่ภาคประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการกำหนดกรอบไว้โดยกว้าง ๆ ยังขาดหลักเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยภาคประชาชนซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาจกระทำได้โดยการกำหนดรูปแบบ (Model) ที่เหมาะสมในการเอื้ออำนวยไปประยุกต์ใช้กับการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยภาคประชาชน ดังนี้

(1) ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภาถอดถอนกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติออกจากตำแหน่งได้ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการที่ประชาชนจะเข้าชื่อร้องตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542

(2) เมื่อประธานวุฒิสภาได้รับคำร้องขอดังกล่าวแล้ว ก็จะต้องส่งเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการวิสามัญ ดำเนินการไต่สวนโดยเร็ว เมื่อคณะกรรมการวิสามัญ ทำการไต่สวนเสร็จแล้วต้องส่งรายงานการไต่ส่วนกลับไปยังวุฒิสภา

(3) เมื่อวุฒิสภาได้รับรายงานการไต่ส่วนจากคณะกรรมการวิสามัญ แล้วประธานวุฒิสภาจะต้องจัดให้มีการะชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว โดยในการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาถอดถอนผู้ใดออกจากตำแหน่งนั้น ให้ถือเอาคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภาและลงคะแนนต้องกระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ มติของวุฒิสภาถือเป็นที่สุดและจะมีการร้องขอให้ถอดถอนบุคคลดังกล่าวโดยอาศัยเหตุเดียวกันอีกมิได้

(4) เมื่อบุคคลใดถูกถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งหรือให้ออกจากราชการ ให้มีผลนับแต่วันที่วุฒิสภามีมติให้ถอดถอน และผู้น้นจะถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งใดในทางการเมือง หรือในการรับราชการเป็นเวลาห้าปี

Full Text:

PDF

References


ชลัช จงสืบพันธ์ และคณะ. (2550). การศึกษาวิเคราะห์ความเป็นอิสระขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ. นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า

ไชยวัฒน์ ค้ำชู. (2545). ธรรมาภิบาล การบริหารการปกครองที่โปร่งใสด้วยจริยธรรม. กรุงเทพฯ: น้ำฝน.

ตรีเพชร์ จิตรมหิมา. (2554). เอกสารประกอบการเรียน: หลักนิติธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล. กรุงเทพฯ: คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

นันทวัฒน์ บรมนันท์. (2540). ระบบการพิจารณาคดีควาสมผิดทางอาญาของนักการเองระดับสูงในประเทศฝรั่งเศส. กรุงเทพฯ: คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.


Refbacks

  • There are currently no refbacks.


ยินดีรับบทความวิชาการทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในวารสารใดมาก่อน กองบรรณาธิการขอสงวนสิทธิ์ในการแก้ไขต้นฉบับและการพิจารณาตีพิมพ์ตามลำดับก่อนหลัง