ปัญหาการคุ้มครองภูมิปัญญาไทยในการแปรรูปสมุนไพร:กรณีศึกษา อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
Abstract
ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1992 และได้ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2003 โดยอนุสัญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 2004 ซึ่งอนุสัญญาดังกล่าว เป็นอนุสัญญาที่มีขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์จากองค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน รวมถึงการป้องกันการมิให้ประเทศที่พัฒนาแล้วแสวงหาประโยชน์จากการเข้าถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นของประเทศกำลังพัฒนาบนฐานของความหลากหลายทางชีวภาพโดยมิชอบ
งแม้จะมีการจัดทำอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ปัญหาต่างๆ ก็ยังปรากฏขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นของประเทศที่กำลังพัฒนานั้นกลับไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งนี้ เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขสำคัญสองประการ กล่าวคือ ประการแรก อนุสัญญาดังกล่าวมีลักษณะเป็นข้อกำหนดที่วางหลักเกณฑ์ไว้โดยกว้าง ไม่ได้ระบุรายละเอียดให้ชัดเจนโดยเฉพาะ อย่างยิ่งนิยามของความหลากหลายทางชีวภาพที่ไม่ครอบคลุมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงทำให้เกิดช่องว่าง ในการบังคับให้เป็นไปตามอนุสัญญา ประการสอง เนื้อหาในอนุสัญญาดังกล่าวมีความขัดแย้งกันเองระหว่างแนวคิดและวัตถุประสงค์ กล่าวคือ อนุสัญญาฉบับนี้ตราขึ้นภายใต้เงื่อนไขของการไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา โดยได้วางหลักเกณฑ์ให้รัฐภาคีสามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลในเชิงวิชาการต่างๆ ได้ โดยการตกลงร่วมกันในลักษณะต่างตอบแทน ซึ่งเป็นเงื่อนไขการเอื้ออำนวยประโยชน์ ในอนุสัญญาแต่ในความเป็นจริงนั้นประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถที่จะได้รับประโยชน์จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ เนื่องด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ศักยภาพของบุคลากร รวมถึงกฎหมายต่างๆ ที่เป็นช่องว่างให้ประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถเข้าถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นในประเทศกำลังพัฒนา และนำภูมิปัญญาดังกล่าวไปต่อยอดและจดทะเบียนสิทธิบัตรในลักษณะของโจรสลัดชีวภาพ
หรับประเทศไทยซึ่งเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพจึงได้เร่งดำเนินการอนุวัตรการกฎหมายภายในเพื่อรองรับอนุสัญญาดังกล่าว เนื่องจากพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ที่ใช้บังคับอยู่ไม่สามารถคุ้มครององค์ความรู้ในการแปรรูปสมุนไพรของผู้ทรงภูมิปัญญาได้เพราะเป็นสารสกัดจากพืชจึงยกเว้นไม่ให้ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตร โดยการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ขึ้น ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องคุ้มครององค์ความรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพรของผู้ทรงภูมิปัญญา แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับไม่สามารถให้ความคุ้มครององค์ความรู้ดังกล่าวได้จริง เนื่องจากการจดทะเบียนสิทธิในภูมิปัญญา ไม่สามารถจดทะเบียนสิทธิส่วนบุคคลได้เพราะกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ในขั้นตอนการยกร่าง จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ภูมิปัญญาส่วนบุคคลไม่ได้รับการจดทะเบียนเป็นภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ดังนั้น จึงขาดหลักฐานทางทะเบียนดังกล่าวไป ซึ่งทำให้ต่างชาติสามารถนำภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยไปดำเนินการจดแจ้งสิทธิบัตรได้ อีกทั้ง อายุการคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยมีระยะเวลาเพียงตลอดอายุของผู้ทรงสิทธิและคุ้มครองเพิ่มอีกห้าสิบปีนับแต่วันที่ผู้ทรงสิทธิตาย ซึ่งส่งผลให้ภูมิปัญญาดังกล่าวกลายเป็นความรู้สาธารณะและผู้อื่นสามารถนำภูมิปัญญานั้นไปพัฒนาต่อยอดแล้วจดทะเบียนสิทธิบัตรได้
ดังนั้น หากพิจารณาจากหลักกฎหมายภายในแล้วซึ่งได้อนุวัตรการตามอนุสัญญาว่าด้วย ความหลากหลายทางชีวภาพจะพบว่าไม่มีมาตรการใดให้การคุ้มครองภูมิปัญญาไทยในการแปรรูปสมุนไพรเลย ฉะนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงควรดำเนินการยกร่างกฎหมายและจัดตั้งหน่วยงานรัฐดังต่อไปนี้
1. เร่งดำเนินการยกร่างกฎหมายลำดับรองว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิส่วนบุคคล
2. เร่งดำเนินการยกร่างกฎหมายลำดับรองเกี่ยวกับข้อจำกัดสิทธิการเข้าถึงภูมิปัญญา เพื่อนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานในการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับการเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
3. เร่งดำเนินการยกร่างกฎหมายลำดับรอง เรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ภูมิปัญญา หรือยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น พ.ศ. ....
4. เร่งจัดตั้งหน่วยงานของรัฐในระดับท้องถิ่นเพื่อบริหารจัดการภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
5. เร่งประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ชุมชนในเรื่องการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ประสานงาน
Keywords
Full Text:
PDFReferences
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550.
พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) และฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2542).
พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542.
ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น พ.ศ. .... .
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ พ.ศ. 2553.
ประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง การแจ้งข้อมูลและขอรับบริการข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย.
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559).
ธนิต ชังถาวร และเฉลิมชัย ก๊กเกียรติกุล. (2549,กุมภาพันธ์). การจัดการด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property). สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี.
ลาวัณย์ ถนัดศิลปกุล. กฎหมายสิ่งแวดล้อม. รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์. มหาวิทยาลัยศรีปทุม. เอกสารประกอบการเรียนการสอน.
นันทน อินทนนท์. ความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาและผลกระทบต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น. ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน. รายงานการวิจัย.
ภานุมาศ ขัดเงางาม. (2557). กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์ แผนไทย: แนวคิด และบทวิเคราะห์. พิมพ์ครั้งที่1. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง. (2550). พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ 21 เซ็นจูรี่.
จักรกฤษณ์ ควรพจน์. สิทธิบัตร. (2544). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: นิติธรรม.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. กฎหมายสิ่งแวดล้อม หน่วยที่ 8-15. (2554). พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: ประชาชน.
Convention on Biological Diversity 1992.
Biological Diversity Act 2002.
Biodiversity Law No.7788.
Federal Act on Patents for Inventions: Patents Act, PatA.
Law Introducing A Protection Regime for the Collective Knowledge of Indigenous Peoples Derived from Biological Resources.
Andrew Christie. INTELLECTUAL PROPEPTY. (2001). 5th Edition. United Kingdom.
Silk von Lewinski. Indigenous Heritage and Intellectual Property: Genetic Resources, Traditional Knowledge and Folklore. (2008). 2th Edition. Netherland.
Marie-Claire Cordonier Segger. Sustainable Development Law. (2004). Oxford.
Patricia W. Birnie. International Law and the Environment. (1992). Oxford.
Refbacks
- There are currently no refbacks.
ยินดีรับบทความวิชาการทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในวารสารใดมาก่อน กองบรรณาธิการขอสงวนสิทธิ์ในการแก้ไขต้นฉบับและการพิจารณาตีพิมพ์ตามลำดับก่อนหลัง