ปัญหาความรับผิดทางละเมิดของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามกฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

โกศล อินทรศร

Abstract


          พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำลงในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ผู้เสียหายย่อมมีสิทธิฟ้องหน่วยงานของรัฐได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นไม่ได้ หากเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นไม่สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใด ผู้เสียหายต้องฟ้องให้กระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดแทนเจ้าหน้าที่ของรัฐ สำหรับกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งมิได้สังกัดสำนักงานอันเป็นหน่วยงานธุรการขององค์กรเหล่านั้น กรณีไม่มีบทบัญญัติกฎหมายชัดเจนว่ากระทรวงการคลังจะต้องเป็นผู้ต้องรับผิดหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เป็นหน่วยงานของรัฐ และคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ใช้บังคับกฎหมายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 จึงอยู่ในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติงานอื่นไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งในฐานะเป็นกรรมการหรือฐานะอื่นใดตามนิยามของเจ้าหน้าที่ ดังนั้น การยื่นคำขอตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จึงจะต้องยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้เสียหายจะยื่นคำขอต่อกระทรวงการคลังไม่ได้ แต่ต่อมาศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยโดยวางหลักว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิได้สังกัดหน่วยงานใด ต้องฟ้องกระทรวงการคลังให้รับผิด ดังนั้น จึงเกิดความไม่ชัดเจนจนเป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิของผู้ซึ่งได้รับความเสียหายอันกระทบต่อสิทธิของประชาชนในการที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหาย รวมถึงเกิดผลกระทบต่อการบริหารราชการในขั้นตอนต่างๆ รวมถึงกระบวนการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดของคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งด้วย

          จากการศึกษาพบว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นคณะบุคคลตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยทั่วไป การกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหน่วยงานภายใต้บังคับพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จึงเกิดปัญหากรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งกระทำละเมิดต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือหน่วยงานของรัฐอื่น ซึ่งรวมถึงการฟ้องคดีของบุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของคณะกรรมการการเลือกตั้ง สืบเนื่องจากโครงสร้างและรูปแบบองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีความแตกต่างจากหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ จึงสมควรมีการตรากฎหมาย ระเบียบและหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับลักษณะองค์กรและอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

          ผู้เขียนจึงขอเสนอว่า ควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยขยายขอบเขตการคุ้มครองให้ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐให้กว้างขวางขึ้น และแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำในบทบัญญัติมาตรา 5 ให้ครอบคลุมถึงกรณีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญกระทำละเมิดบุคคลภายนอกในการปฏิบัติหน้าที่ โดยให้หน่วยงานธุรการขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญนั้นเป็นหน่วยงานซึ่งต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน รวมถึงกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งสังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่ง แต่ปฏิบัติหน้าที่ให้แก่หน่วยงานของรัฐอีกแห่งหนึ่งกระทำละเมิดด้วย ซึ่งการดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาความรับผิดทางละเมิด ตลอดจนแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดให้เป็นอำนาจของหน่วยงานของรัฐซึ่งปฏิบัติงานให้แก่องค์กรอิสระดังกล่าว โดยการตรวจสอบควบคุมดูแลนั้นให้เป็นอำนาจของกระทรวงการคลัง ซึ่งให้ “คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง” เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาสำนวนการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดในลักษณะองค์กรที่ปรึกษาซึ่งหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานต้องผูกพันตามความเห็นของคณะกรรมการดังกล่าวเพื่อให้ความเห็นของกระทรวงการคลังเป็นบรรทัดฐานให้แก่หน่วยงานของรัฐต่างๆ เกิดความรวดเร็วในพิจารณาความรับผิด ลดการฟ้องร้องคดีต่อศาล ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารราชการ และคุ้มครองบุคคลผู้ได้รับความเสียหายให้ได้รับการชดใช้เยียวยาอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม

Keywords


คณะกรรมการการเลือกตั้ง, ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

Full Text:

PDF

References


กมลชัย รัตนสกาวงศ์. (2537). พื้นฐานความรู้ทั่วไป หลักกฎหมายปกครองเยอรมัน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์นิติธรรม.

จี๊ด เศรษฐบุตร. (2550). หลักกฎหมายแพ่งลักษณะละเมิด. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา.

ชาญชัย แสวงศักดิ์. (2554). คำอธิบายกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่และ

ความรับผิดชอบของรัฐโดยปราศจากความผิด. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน.

ฐิติพร ลิ้มแหลมทอง. (พฤษภาคม-สิงหาคม 2548). การแบ่งแยกความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่จากการปฏิบัติหน้าที่และมิใช่การปฏิบัติหน้าที่. วารสารดุลพาห ปีที่ 52 ฉบับที่ 2.

ดิสทัต โหตระกิตย์. (2554). องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระในระบบกฎหมายไทย. แทนดอกไม้ไหว้ครู: รวมบทความทางวิชาการด้านกฎหมายเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดปีที่ 60 ของศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม. กรุงเทพฯ: บริษัท ส เจริญการพิมพ์ จำกัด.

ตรีเพชร์ จิตรมหึมา. (2555). หลักเกณฑ์การวินิจฉัยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539. วารสารนิด้า ปีที่ 1 ฉบับปฐมฤกษ์.

พูนศักดิ์ ไวสำรวจ. (ธันวาคม 2530). ความรับผิดของฝ่ายปกครองในประเทศฝรั่งเศส. วารสารกฎหมายปกครอง เล่ม 6 ตอน 3.

ไพจิตร บุญพันธ์. (2553). คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะละเมิดและหลักกฎหมายลักษณะละเมิด เรื่อง ข้อสันนิษฐานความผิดตามกฎหมาย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์นิติบรรณาการ.

วรเจตน์ ภาคีรัตน์. (2555). กฎหมายปกครองเปรียบเทียบ: ความรับผิดของรัฐในระบบกฎหมายเยอรมัน ฝรั่งเศส และอังกฤษ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

วิษณุ วรัญญู. (2538). องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ. รายงานวิจัยเพื่อจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองไทย เสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (ค.ป.พ.). กรุงเทพฯ: กองทุนสนับสนุนการวิจัย. 27


Refbacks

  • There are currently no refbacks.


ยินดีรับบทความวิชาการทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในวารสารใดมาก่อน กองบรรณาธิการขอสงวนสิทธิ์ในการแก้ไขต้นฉบับและการพิจารณาตีพิมพ์ตามลำดับก่อนหลัง