การบริหารจัดการสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุแบบมีส่วนร่วม กรณีศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
Abstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบที่เหมาะสมในการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุในพื้นที่กรณีศึกษาแบบมีส่วนร่วม เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จและความล้มเหลวของการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ ในพื้นที่กรณีศึกษาแบบมีส่วนร่วม เพื่อศึกษาการบริหารจัดการการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ ในพื้นที่กรณีศึกษาแบบมีส่วนร่วม และเพื่อศึกษาผลที่เกิดจากการจัดการความรู้การจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ ในพื้นที่กรณีศึกษาแบบมีส่วนร่วม ดำเนินการศึกษาวิจัยระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2559 ถึงเดือนตุลาคม 2560 เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้การสัมภาษณ์ระดับลึก การสนทนากลุ่ม การจัดเวทีประชาคม และการจัดเวทีสามระดับ ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบที่เหมาะสมในการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ คือ จัดให้มีสวัสดิการเกี่ยวกับค่าชดเชย ค่าทดแทน การรักษาพยาบาล กองทุน เงินสมทบเพื่อช่วยเหลือและเน้นการจัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุ ที่อยู่อาศัย เงินช่วยเหลือจากการเสียชีวิต โครงการเพื่อนเยี่ยมเพื่อนผู้สูงอายุด้วยกัน เพิ่มกิจกรรมให้ผู้สูงอายุและลูกหลานได้ทำร่วมกัน เพื่อดูแลผู้สูงอายุ ไม่ผลักภาระให้กับหน่วยงานภาครัฐ โดยร่วมมือกับศูนย์พัฒนาอาชีพผู้สูงอายุที่กระจายอยู่ตาม ตำบลรัษฎา ตำบลเกาะแก้ว ตำบลฉลอง ตำบลไม้ขาว ตำบลกมลา การมีส่วนร่วมในการทำงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ต้องทำงานร่วมกันทั้งด้านภาคประชารัฐ ผู้สูงอายุ และภาคีเครือข่าย จัดให้มีสถานที่ออกกำลังกาย ทำกิจกรรม หรือประชุมของผู้สูงอายุ เบี้ยผู้สูงอายุ ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพในปัจจุบัน เนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว มีค่าครองชีพสูง และในแต่ละเดือน ออกไม่ตรงตามกำหนด ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ ความร่วมมือกันของบุคคลที่มีจิตอาสา รวมกันเป็นเครือข่าย ภาครัฐ ภาคท้องถิ่น ภาคชุมชน กองทุนสวัสดิการสังคม ที่จะพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุ เป็นคลังปัญญา จัดโครงการที่ตรงตามความต้องการและแก้ปัญหาผู้สูงอายุ โดยมีคนรุ่นใหม่เข้าร่วมกิจกรรมด้วย อำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุในการเข้ารับบริการจากหน่วยงานต่าง ๆ ปัจจัยที่ส่งผลต่อความล้มเหลวของการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ นโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการสังคมช่วยเหลือผู้สูงอายุไม่ชัดเจน ไม่เพียงพอ ไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ การพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนชนไม่มีความต่อเนื่อง ความล่าช้าในการรับสวัสดิการสังคม ผู้สูงอายุไม่ได้วางแผนที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การบริหารจัดการการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ การมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุและการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เรื่องสิทธิสวัสดิการให้มากขึ้น การให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ เรื่องสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุ การบูรณาการจากหน่วยงาน 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อบริหารจัดการสวัสดิการให้ทั่วถึง การสร้างความร่วมมือเป็นอาสาสมัคร เป็นจิตอาสาในการดูแลผู้สูงอายุ การกระจายอำนาจอย่างจริงจัง กระจายงบประมาณให้แก่ท้องถิ่น หาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าของผู้สูงอายุแบบมีส่วนร่วมและการจัดการความรู้เกี่ยวกับอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง
Full Text:
UntitledRefbacks
- There are currently no refbacks.